“ไบโอฟิลเลีย” ปรัชญากระตุ้นไอเดีย ด้วยแนวทาง “ธรรมชาติบำบัด”

Cr. : www.betterhumans.coach.me

 

ภาวะความเร่งรีบ หรือความวุ่นวายที่อยู่รอบๆ ตัวเราสำหรับ “คนเมือง” หรือกลุ่มคนที่ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่สูงเฉียดฟ้า แม้กระทั่งรถบนท้องถนนที่แน่นไปทุกอณูตลอดเวลา สวนทางกับดีมานด์ความต้องการงานที่แข่งขันกันด้วย “ไอเดีย” เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น จึงมีเพียงไม่กี่อย่างที่จะสามารถบรรเทาความต้องตื่นตัวและตึงเครียดตลอดเวลาของคนในยุคนี้ได้นั้น มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ไบโอฟิลเลีย” (Biophilia) คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก เป็นแนวคิดปรัชญาหมายถึง “ผู้ที่โหยหาสิ่งมีชีวิต” หรือ การใช้สิ่งมีชีวิตที่รวมทั้งธรรมชาติและสัตว์มาช่วยในการบำบัดความเครียดนั่นเอง

แนวคิดไบโอฟิลเลีย มาจากนักชีววิทยาที่ชื่อว่า Edward O. Wilson ที่ได้เขียนหนังสือของตัวเองขึ้นมาเมื่อปี 1984 เป็นการนิยามปรัชญากระตุ้นให้ผู้คนหันมาใส่ใจธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรามากขึ้น โดยเปรียบธรรมชาติมีสรรพคุณเทียบเท่า “ยารักษาโรคเครียด” ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

นาย วิลสัน กล่าวว่า พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้และพืชนานาชนิด นับเป็นพื้นที่คลังสมองขนาดใหญ่สำหรับคนที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงาน ไอเดีย หรือแรงบันดาลใจต่างๆ  ทั้งไปถึงการฟื้นฟูและพัฒนาสมองอีกด้วย

มีประโยคหนึ่งในหนังสือของวิลสัน ได้อธิบายแนวคิดปรัชญาให้เข้าใจง่ายขึ้น  โดยระบุว่า “จิตใจของมนุษย์ในส่วนที่ลึกมีความต้องการและพยายามที่จะเชื่อมต่อกับธรรมชาติอยู่เสมอ เสมือนเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่โหยหาในความเป็นธรรมชาติเพื่อสร้างสมดุลของจิตใจ ไม่ว่ามนุษย์จะมีวิวัฒนาการรุดหน้าไปหลายก้าวแล้วก็ตาม”

แม้ว่าปรัชญาไบโอฟิลเลียจะถูกนิยามมาแล้วหลายทศวรรษ แต่มนต์คลังของธรรมชาติบำบัดยังคงอยู่

ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา “อเมซอน” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกา ประกาศเปิดตัว “The Spheres ออฟฟิศสวนพฤกษศาสตร์ที่มีรูปทรงโดมกระจกรอบทิศ ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน โดยอเมซอน กล่าวในระหว่างเปิดตัวออฟฟิศแห่งใหม่นี้ว่า “ธรรมชาติที่ดีมีผลต่อการทำงานอย่างคาดไม่ถึง” พร้อมย้ำด้วยว่า การสร้างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่อิงตามธรรมชาติ เป็นการกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ให้กับพนักงานบริษัทอย่างมาก ทั้งยังส่งผลดีระยะยาวต่อร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันยังช่วยให้พนักงานของอเมซอนรู้จัก Balance ความเครียดในระหว่างวันทำงานได้ดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ The Spheres ของอเมซอนไม่ได้เป็นเพียงแค่การซื้อต้นไม้เพื่อมาประดับเพิ่มความสวยงามของออฟฟิศเท่านั้น แต่เป็นการออกนโยบายรณรงค์ “การปลูกต้นไม้” ภายในออฟฟิศด้วย โดยวันในเปิดตัว ซีอีโอของอเมซอนระบุว่า ออฟฟิศใหม่แห่งนี้มีพืชนานาพรรณขณะนี้กว่า 40,000 ต้น มากกว่า 400 สายพันธุ์ จาก 30 ประเทศทั่วโลก โดยพนักงานทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้ได้ตามความชอบและตามความเหมาะสม

เห็นตัวอย่างจาก อเมซอนแล้ว ชวนลองให้จินตนาการเล่นๆ ดูว่า หากแต่ละบริษัทพยายามลดละแนวทางที่ยึดหลักวัดจากปริมาณของผลงาน แล้วหันมาใส่ใจคุณภาพจากตัวบุคคล (พนักงาน) ก่อน เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพในระยะยาว บางทีโรคแปลกๆ ที่ผุดขึ้นมาในแต่ละวัน ก็อาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะเมื่อคนเย็นลง…ก็เป็นธรรมดาที่โลกต้องเย็นลงตามไปด้วย.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน