ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้อีก 3 ปีไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ พบ 96% รายได้ต่ำ 9,000-10,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายพุ่งทุกปี
สังคมผู้สูงอายุกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตามติดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่ต่างก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้วตั้งแต่ประมาณปี 2548 และกำลังเตรียมนับถอยหลังสำหรับการเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 เป็นอย่างเร็วหรือในอีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น และหลังจากนั้นในราวปี 2575 ไทยก็ถูกคาดการณ์ว่าจะขยับเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ด้วย
หากพิจารณาจำนวนผู้สูงอายุรายจังหวัด พบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในไทยอยู่ที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ตามมาด้วยจังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี ขณะที่มีราว 6-8 จังหวัดที่ปัจจุบันได้ก้าวเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้วก่อนหน้าจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ลำปาง แพร่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม และอาจรวมถึงลำพูนและอุตรดิตถ์
อนึ่ง สังคมสูงวัยที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย จะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และอาจหมายความถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะตามมา
- ตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต จากฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและยังมีอายุยืนขึ้น รวมทั้งจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี เบื้องต้นคำนวณจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่อยู่ที่ราว 9,000-10,000 บาท/เดือน ซึ่งครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งหากรวมค่าสังสรรค์กับเพื่อนและค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านี้ ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่
- อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่สูง ดังนั้น ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุคงต้องเลือกตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด โดยแม้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงข้างหน้า และอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ระดับรายได้ของผู้สูงอายุไทยที่ยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ทั้งๆ ที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่จะต้องคัดสรรและพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างเหมาะสม
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เกินระดับเพียงพอต่อการดำรงชีพ น่าจะมีจำนวนรวม 7 แสนคน หรือมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่คาดว่าจะมีจำนวน 13.61 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 300,000 บาท จะมีสัดส่วนสูงถึง 95-96% นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เดิมพึ่งพาลูกหลานในการเป็นแหล่งรายได้หลัก ก็อาจมีความสามารถที่จะพึ่งพาลูกหลานได้น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และหลายครอบครัวก็เลือกที่จะไม่มีบุตรหรืออยู่เป็นโสด ทำให้ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน/เงินออมของตนเอง รวมทั้งสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น และท้ายสุดอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายได้
- ดังนั้นในการเจาะตลาดผู้สูงอายุไทย ผู้ประกอบการอาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากเป็น กลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ก็คงต้องเน้นไปที่สินค้าและบริการที่มีราคาย่อมเยา รวมถึงอาจจำเป็นต้องมีการดีลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ กลุ่มตลาดผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นบน ซึ่งส่วนใหญ่ภาคธุรกิจน่าจะเน้นเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของตน ทำให้สภาวะการแข่งขันเพื่อตอบโจทย์กลุ่มนี้จะมีความเข้มข้นมากกว่า หมายความว่า สินค้าและบริการคงต้องเน้นไปที่ความคุ้มค่ากับการใช้จ่าย ความแตกต่างจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายอื่น และคุณภาพของสินค้าบริการในลักษณะ On Demand/Personalized หรือตอบความต้องการเฉพาะบุคคลเป็นหลัก
- นอกจากนี้ ในส่วนของ ช่องทางการจำหน่ายก็ควรต้องหันมาขยายช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากช่องทางหน้าร้าน เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดในด้านการเคลื่อนไหวและการเดินทางไปซื้อหาสินค้าและบริการด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบหรือปรับฟังก์ชั่นการใช้งานให้ง่าย/สะดวก/ไม่ซับซ้อนจนเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีขนาดตัวอักษรหรือปุ่มรายการที่ใหญ่ เป็นต้น โดยการดำเนินการดังกล่าว ไม่เพียงจะสามารถตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะรองรับกลุ่มประชากรที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดีซึ่งกำลังเตรียมที่จะก้าวเป็นผู้สูงอายุในอนาคตด้วย
สรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือในปี 2565 เป็นอย่างเร็วนั้น นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยพอสมควรในการปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป รวมถึงความต้องการของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากอดีตด้วย โดยภาคธุรกิจคงจะต้องมีการครุ่นคิดให้รอบคอบว่า ผู้สูงอายุซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มไหนคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง และกำลังเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดในการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ภายใต้กำลังซื้อที่ยังไม่สูงมากนักของประชากรผู้สูงอายุไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ไปแล้วก่อนหน้าไทย เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองหาโอกาสหรือช่องว่างทางการตลาด
สำหรับการนำเสนอสินค้าและบริการที่จะตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกัน การรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าสูงอายุแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต่างๆ ควรให้ความสำคัญอยู่เสมอ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องมีการปรับตัวรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ของไทย ภาครัฐก็มีความท้าทายในการวางแผนเพื่อรับมือด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ การส่งเสริมและขยายโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ การสร้างและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและปลอดภัยในที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com