“อพท.” จับมือ “ม.มหิดล” เร่งทำหลักสูตรสร้าง “ไกด์ท้องถิ่น” รองรับกฎหมาย เม.ย.62

 

นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ทาง อพท.ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาช่วยจัดหลักสูตรการพัฒนานักสื่อความหมายในชุมชนท้องถิ่นให้ชุมชนมีส่วนร่วมหรือได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้โดยตรง เพราะคนในชุมชนท้องถิ่นถือเป็นผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ของตัวเองให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวได้เป็นอย่างดี

 

 

โดยล่าสุดดร. แก้วตา ม่วงเกษม  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารและสนับสนุนวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำรายงานผลสรุปหลักสูตรการพัฒนานักสื่อความหมายในชุมชนเข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วย   ภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนชุมชน สื่อมวลชน  นักวิชาการรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนนำหลักสูตรไปใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจากฐานรากสู่ความยั่งยืนในระยะยาว นับเป็นการสร้างสมดุลภายใต้กรอบของ อพท. ครบทั้ง 3 ส่วนคือ เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านกระบวนการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ  ร่วมรับผิดชอบและร่วมรับประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน

 

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวโดยชุมชนในชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผล ภายใต้กลไกการจัดการแบบมีส่วนร่วมด้วยเห็นว่าทรัพยากรเป็นของทุกคนในชุมชนหากเริ่มต้นด้วยรากฐานที่เข้มแข็งและกระจายไปอย่างทั่วถึงเชื่อว่า จะช่วยนำไปสู่ความยั่งยืนได้ โดยในครั้งนี้ทาง อพท.ได้เริ่มต้นจากการพัฒนานักสื่อความหมายในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานรากให้ได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวของชุมชนตัวเองให้นักท่องเที่ยวได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง มีตำนาน มีประวัติศาสตร์เพราะเหล่านี้คือ สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์การเดินทางของนักท่องเที่ยววันนี้ไม่ใช่แค่เดินทางเพื่อพักผ่อนอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบแสวงหาประสบการณ์ (Local Experience และ Go Local) และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้สุดท้ายแล้วกลับมาตอบโจทย์การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำหลักสูตรให้

ส่วนเรื่องของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 2535 ที่ได้มีการปรับแก้ไขโดยเฉพาะมาตรา 51 ประกาศเขตพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นเขตท่องเที่ยว และยกเว้นคุณสมบัติของผู้ที่มาเล่าเรื่องในมาตรา 50 นั้น คาดว่าประมาณเม.ย.ปีหน้า น่าจะมีมัคคุเทศก์ชุมชนท้องถิ่นได้

 

ดร. แก้วตา ม่วงเกษม  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารและสนับสนุนวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรการพัฒนานักสื่อความหมายในชุมชนท้องถิ่นนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรที่เหมาะสมกับชุมชนท่องเที่ยวมากที่สุด มีความประสงค์พัฒนานักสื่อความหมายที่มีประสบการณ์ เป็นปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนมายาวนาน  และหลังอบรมไปแล้ว สามารถเป็น Train The Trainer  คนอื่นๆต่อไปได้ด้วย

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้รับโจทย์จาก อพท. ที่ต้องการนักสื่อความหมายที่มีคุณสมบัติทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึก WOW หรือเกิดความประทับใจที่ได้รับประสบการณ์จากการที่ได้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ชุมชนแบบจับต้องได้ ดังนั้นเมื่อมีเรื่องของความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักสูตรนี้จึงไม่ได้ออกแบบแค่พื้นฐานของการเป็นนักสื่อความหมายที่แค่พูดได้เท่านั้นหากแต่เป็นเครื่องมือช่วยให้ชุมชนสามารถนำไปใช้งานได้จริง

 

ทั้งนี้ ทางทางมหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาข้อมูลชุมชนต่างๆที่มีความหลากหลายประสบการณ์ตามที่ อพท.คัดเลือกมาให้ เพื่อทำการฝึกอบรมจำนวน 6 ชุมชนตัวอย่างเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจตามแนวทางของ อพท.พร้อมกับรวบรวมข้อมูล มอบองค์ความรู้ รับฟังความคิดเห็นของแต่ละชุมชน รวมถึงหาแนวทางพัฒนานักสื่อความหมายให้มีความกล้าเพราะความกล้าจะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ดี

นอกจากนี้  ทางมหาวิทยาลัยได้จัดผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ของการเป็นนักสื่อความหมายมาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ว๊าวให้แต่ละชุมชน ที่สำคัญมีการประเมินความถนัดของการเป็นนักสื่อความหมายว่าอยู่ใน Level ไหน เพื่อเทรนนิ่งอย่างต่อเนื่อง และให้เข้ากับความถนัดของแต่ละคน  มีการทำเวิร์คช้อปตลอดเวลาที่อยู่ในแต่ละพื้นที่มีหลายหัวข้อ เช่น การจัดการวุฒิภาวะทางอารมณ์ การเข้าถึงหัวใจบริการ การละลายพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย มีการอ่านภาษากายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักสื่อความหมายควรทราบ และการสร้างบทสนทนาให้เกิดการเชื่อมโยงเรื่องราวในพื้นที่ให้สามารถพูดคุยสนทนากับนักท่องเที่ยวได้รวมถึงข้อควรระมัดระวัง ระบบความปลอดภัย ศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ  ที่ได้ให้ชุมชนถอดบทเรียน และใช้เวลาอยู่ร่วมกันเพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติของการเป็นนักสื่อความหมาย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน