ร่วมกันเปลี่ยนยุค “สังคมก้มหน้า” ปรับ FOMO สู่แนวคิด JOMO

Photo credit : https://thenextweb.com/

 

สภาวะโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผู้คนที่ก้มหน้าติดจอมือถือกันแทบทั้งนั้น ความน่ากังวลเหล่านี้ไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับช่วงอายุใดช่วงอายุหนึ่ง หรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันกำลังเกิดขึ้นกับคนทุกวัยทั้งโลก!

ทีมวิจัยจากฝ่าย “ระบบแอนดรอยด์” ของกูเกิล ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้คนเกือบทั้งโลกกำลังมุ่งมั่นอยู่กับหน้าจอที่มากเกินความจำเป็น โดยอ้างอิงผลสำรวจและการสัมภาษณ์ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์

และข้อมูลจาก เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลของกูเกิลเองที่ได้วิเคราะห์ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ในปัจจุบัน

โดยผลปรากฏว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในทุกช่วงวัยมีพฤติกรรม ติดมือถือ” และบางรายยอมรับว่า  พวกเขาเป็นโรคเครียดโดยไม่รู้ตัว จากการที่มีสมาธิที่สั้นลง

งานวิจัยดังกล่าวนี้ยังได้ระบุอีกด้วยว่า กลุ่มวัยรุ่นทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงอยู่กับการท่องโลกโซเชียลมีเดีย ขณะที่ผู้ใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ผลการวิจัยของกูเกิล ระบุว่า พฤติกรรมเหล่านี้เหล่านักวิเคราะห์ในวงการเทคโนโลยีส่วนใหญ่ เรียกกัน ว่า “FOMO” หรือ Fear of Missing Out เป็นอาการของ ความกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง” สาเหตุก็เพราะการเข้าถึงกันและกันของผู้คนทั่วโลกที่ง่ายและรวดเร็วกว่ายุคก่อนๆ เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นภายในตัวเราเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่จะตามมาอีกมากมายจากพฤติกรรมต่างๆที่เปลี่ยนไป เช่น ความอดทนที่น้อยลง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดน้อยลง โดยเฉพาะกับครอบครัว

ซึ่งกูเกิล มองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกำลังคืบคลานเป็นปัญหาใหญ่ และมีท่าทีว่าจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ จนถึงทศวรรษข้างหน้าหากเรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง ตามจุดประสงค์ของการสร้างเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

โดยจุดประสงค์ของผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆขึ้นมา ก็เพื่อต้องการเพิ่มเครื่องมือให้การใช้ชีวิตประจำวันนั่นง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่เหรียญย่อมมี 2ด้าน หากเทคโนโลยีกลับกลายมาเป็นสิ่งที่มารบกวนชีวิตประจำวันจนเราเสียสมาธิ และนำไปสู่โรคต่างๆ มากมาย มันก็คือหายนะดีๆ นั่นเอง

ดังนั้น ในรายงานวิจัยดังกล่าวนี้จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขเพื่อสร้างสมดุลให้กับข้อบกพร่องเหล่านี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดที่จาก FOMO หรืออาการของ “ความกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง” ให้เป็น JOMO หรือ Joy of Mission Out ซึ่งหมายถึง สนุกที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง”

“จริงอยู่ว่า เริ่มแรกของการปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจจะยากเย็น แต่การที่มีเครื่องมือเพิ่มเพื่อช่วยสร้างความสมดุลให้กับผู้ที่เสพติดการใช้มือถือ อาจทำให้จุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นง่ายขึ้น” หนึ่งในทีมงานวิจัยของกูเกิลกล่าว

ดังนั้น “Digital Wellbeing” คือ คำตอบและตัวช่วยที่ดีสุด ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ของกูเกิลที่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้กับสมาร์ทโฟนในระบบ “Android 9” เพื่อคอยแจ้งเตือนและควบคุมเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือที่มากเกินพอดี

ทั้งยังสร้างเครื่องมือที่ช่วยลดการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น แอพพลิเคชั่น App Timer ของ Android 9 Pie ที่สามารถจำกัดเวลาการใช้ต่างๆ ได้ดี โดยเริ่มจากการเตือน จนไปถึงปิดการติดต่อสื่อสารในบางแอพพลิเคชั่นชั่วคราว ซึ่งจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่ประเมินว่าในหลายชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมีการใช้งานนานจนเกินไป

แต่ถึงกระนั้น ฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งที่คอยเตือนเราฉันท์มิตร ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องตั้งค่าเพื่ออนุญาตให้เข้าถึงการใช้งานอย่างเต็มที่ นั่นก็หมายถึง ผู้ใช้จะต้องยินยอมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยใจจริง

เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะสิ่งใดก็ตามจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนเสมอหาก mind-set ของเราไม่ปรับ ตัวช่วยหรือเครื่องมือใดๆที่ดีที่สุดก็ไม่อาจจะช่วยได้.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....