งานวิจัยล่าสุดโต้! การดื่มแอลกอฮอล์ระดับต่ำดีต่อสุขภาพ…ไม่มีอยู่จริง

ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับต่ำนั้นดีต่อสุขภาพ สามารถป้องกันโรคหัวใจและโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ สื่อชั้นนำของจีน รายงานโดยอ้างบทความของ ลอเรน เจมส์ คอลัมนิสต์ในบทความเรื่อง ไม่มีระดับของการดื่มแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยต่อร่างกาย

โดยผู้เขียนอ้างข้อมูลการวิจัยใหม่ล่าสุดจาก Global Burden of Disease (GBD) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ “The Lancet” ยืนยันว่า ไม่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ที่น่าสนใจก็คือ งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ถือว่าเป็นการต่อต้านและลบล้างคำแนะนำของแพทย์ที่เคยระบุก่อนหน้านั้นว่า ระดับการดื่มแอลกฮอล์ที่ต่ำมีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีจุดประสงค์ต้องการเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นสำหรับผู้อ่าน และแก้ไขข้อมูลที่ผิด เพื่อลดปริมาณผู้เสียชีวิตจากสาเหตุของการดื่มแอลกอฮอล์

 ทีมวิจัยระบุว่า ในปัจจุบันพบว่าสัดส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มทั่วโลกในแต่ละวันนั้นเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ขณะที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการดื่มแอลกฮอล์ในระดับต่ำจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หลอดเลือด ตับอ่อนอักเสบ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีแนวโน้มว่าเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 มื้ออาหารในระหว่างวัน

รายงานยังระบุอีกว่า หากเทียบสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ย 1 ใน 10 ของผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างอายุ 15-49 ปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ควรจะวิตกกังวล

ทั้งนี้ ดร.โรบิน เบอร์ตัน จาก King’s College ในกรุงลอนดอน ได้กล่าวว่า “แอลกอฮอล์ถือว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพระดับโลก ซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ไขความเชื่อที่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับต่ำจะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยความเชื่อนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงในด้านสุขภาพและทำให้เกิดโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง”

 รายงานกล่าวยกตัวอย่างถึง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ 10 กรัม จำนวน 1 ครั้งต่อวัน ซึ่งสามารถเทียบได้กับ แก้วไวน์ขนาดกลาง 100 มล. หรือ เบียร์ปริมาณ 30 มล. มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้มากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เลย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และปัญหาหลอดเลือด รวมถึง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และตับอ่อนอักเสบ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill และ Melinda Gates เพื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของประชากรโลกเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่า สัดส่วนผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25% โดยมีการบริโภคในแต่ละวันเฉลี่ยที่ 0.73 แก้วต่อวัน ขณะที่ ผู้ชายอยู่ที่ 39% และปริมาณดื่มอยู่ที่ 1.7 แก้วต่อวัน ในปี 2016

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ผู้ชายชาวโรมาเนีย เป็นชาติที่มีการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 แก้วต่อวัน  ส่วนชายชาวปากีสถานเป็นกลุ่มที่ดื่มน้อยที่สุด เพียง 0.0007 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิงในยูเครนถูกจัดอันดับว่าเป็นกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเฉลี่ย 4.2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงชาวอิหร่านต่ำสุดที่ 0.0003 แก้วต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ดร.แมกซ์ กริสโวลด์ หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า “การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีแล้ว ในระยะยาวยังสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้ เนื่องจากมีอุบัติเหตุมากมายที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นมีส่วนเชื่อมโยงมาจากการดื่มแอลกอออล์จนขาดสติ”

Credit Photo : www.scmp.com

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน