สตาร์ทอัพอินโดฯเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่

ทำแพ็กเกจจิ้งกินได้ สุขภาพดีพ่วงรักษ์โลก

จะว่าไป Green Business หรือธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกระแสที่ไม่เคยตกยุค ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร ยังคงนำมาใช้เป็นจุดขายหรือแรงบันดาลใจได้ตลอด อย่างเรื่องของแพ็กเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็เห็นมีมาตลอด นอกจากแพ็กเกจจิ้งแบบย่อยสลายตามธรรมชาติ แพ็กเกจจิ้งแบบรับประทานได้ พวกช้อน แก้วน้ำ ถ้วยก็มีเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมามีการผลิตออกจำหน่ายบ้างแล้ว ส่วนใหญ่ทำจากธัญพืช ประเภทข้างฟ่าง ข้าวโพด แต่ที่อินโดนีเซีย บริษัทอีโวแวร์ (Evoware) สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้พัฒนาแพ็กเกจจิ้งรุ่นพิเศษขึ้นมาที่นอกจากจะรับประทานได้ ยังอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ โดยแพ็กเกจจิ้งของอีโวแวร์นั้นทำจาก “สาหร่ายทะเล”

เดวิด คริสเตียน หนึ่งในผู้ก่อตั้งอีโวแวร์ บอกเล่าจุดประสงค์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ว่า เพื่อต้องการลดขยะในอินโดนีเซีย ประเทศที่ได้ชื่อว่าก่อมลพิษจากขยะให้กับท้องทะเลมากที่สุดประเทศนึ่ง โดย 90% ของขยะที่พบในทะเลเป็นพลาสติก และโดยมากเป็นขยะที่มาจากแพ็กเกจจิ้งอาหารและเครื่องดื่ม แต่การตื่นตัว การสร้างความเข้าใจ และความเร่งด่วนในการรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังต่ำมาก นี่จึงอาจทำให้กระบวนการผลิต Bioplastic หรือพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม  เดวิดและหุ้นส่วนซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันก่อตั้งบริษัทอีโวแวร์ขึ้นมา นอกจากแรงบันดาลใจในการลดขยะพลาสติกหลังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ปริมาณขยะในทะเลจะมีมากกว่าจำนวนปลา จุดประสงค์หลักอีกอย่างคือ ความพยายามที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำฟาร์มผลิตสาหร่ายทะเลในประเทศ เนื่องจากกำลังประสบปัญหาผลิตผลล้นตลาด อินโดนีเซียผลิตสาหร่ายทะเลได้ปีละประมาณ 10 ล้านตัน คาดผลผลิตปี 2020 จะเพิ่มเป็น 19 ล้านตัน นอกจากนั้น เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงสาหร่ายยังมีความเป็นอยู่แร้นแค้น หนี้สินนอกระบบท่วมตัว ทั้งนี้ โดยผลผลิตสาหร่ายส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรใน 5 จาก 6 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ

หลังจากที่ใช้เวลา 2 ปีเต็มในการศึกษาการผลิตแพ็กเกจจิ้งจากสาหร่าย อีโวแวร์ได้นำร่องเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นแก้ว Ello Jello ที่ทำจากสาหร่ายทะเล (เนื้อสัมผัสคล้ายวุ้นกรอบ) ใช้บรรจุเครื่องดื่มและไอศกรีม หรืออาหารที่ไม่ร้อนเท่านั้น เบื้องต้นมีให้เลือก 4 รส ส้ม ลิ้นจี่ ชาเขียว และเปปเปอร์มินต์ นอกจากผลิตออกมาเป็นแก้ว ลูกค้ายังสามารถซื้อในรูปแบบผงที่มาพร้อมพิมพ์เพื่อไปทำเอง

จากแก้วกินได้ Ello Jello อีโวแวร์ได้พัฒนาแพ็กเกจจิ้งเพิ่มเติม อาทิ กระดาษห่อเบอร์เกอร์ แซนด์วิช วาฟเฟิล โปรตีนบาร์ ซองบรรจุกาแฟพร้อมชง ซองเครื่องปรุงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ที่ละลายน้ำร้อน หายวับไม่เหลือร่องรอย เหมือนไม่เคยมีมาก่อน) ไปจนถึงกระดาษห่อสบู่ ผ้าอนามัย ซองใส่ไม้จิ้มฟัน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้สาหร่ายทะเลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ถือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ธัญพืชหรือข้าวโพดอย่างที่หลายบริษัทนิยม เพราะการเพาะสาหร่ายไม่ใช้น้ำจืด ไม่ใช้ปุ๋ย และไม่ต้องการพื้นที่มากมายในการผลิต พื้นที่เพียง 1 สนามเบสบอล ก็สามารถผลิตสาหร่ายได้มากถึง 40 ตัน นอกจากนั้น สาหร่ายยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดความเป็นกรดในน้ำทะเลลงได้ และเนื่องจากเกษตรกรในอินโดนีเซียสามารถผลิตสาหร่ายได้จำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนวัตถุดิบ

ปัญหาเดียวที่เผชิญอยู่คือในช่วงต้นของการจำหน่าย นั่นคือ ราคาอาจจะยังสูงอยู่ ยกตัวอย่าง กระดาษห่ออาหารขนาด 21×21 ซม. ราคาแผ่นละ 2400 รูเปียห์ (ประมาณ 5.75 บาท) ซองกาแฟ/ซองเครื่องปรุง ราคาต่อซอง 240-390 รูเปียห์ ( 0.55 -1 บาท)  กระดาษห่อสบู่ แผ่นละ 530-980 รูเปียห์ (1.25-2.35 บาท) แล้วแต่ขนาด อย่างไรก็ตาม อีโวแวร์เชื่อว่าในอนาคตราคาจะถูกเมื่อความต้องการในตลาดสูงขึ้นและมีการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ

 

ที่มา

SME SCB

www.dogonews.com/2017/10/8/evoware-hopes-to-reduce-plastic-waste-with-edible-seaweed-wrappers-and-ello-jello-cups

www.greenbiz.com/article/edible-packaging-will-make-you-reconsider-seaweed

https://styluscurve.com/internal/evoware-edible-food-packaging

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....