ถอดรหัส 4 กลุ่มรักษาพยาบาลแพงหูฉี่ขึ้น 6-8%
วันนี้! มีคำถาม “ทำไมคนไทยต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและต้องเพียงพอ” ทาง “คุณเอกรัตน์ ฐิติมั่น” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย มีคำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยย้อนกลับไปดูอายุขัยเฉลี่ยคนไทย จากข้อมูลธนาคารโลก พบว่า คนที่เกิดก่อนหน้านี้โดยในปีพ.ศ. 2510 อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 55 ปี ผ่านมาอีก 55 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนที่เกิดในปีพ.ศ. 2559 ยืนยาวขึ้นเป็น 75 ปี
หมายความว่า ในแต่ละปีอายุขัยเฉลี่ยคนไทยเพิ่มสูงขึ้น และแม้มีแนวโน้มที่อายุยืนมากขึ้น แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย สังเกตได้ในระยะหลังมานี้ บางคนเจ็บป่วย ใช้ชีวิตอยู่ตามโรงพยาบาลเป็นหลัก ด้วยนวตกรรมทางการแพทย์ ทำให้คนอยู่ได้นานขึ้นและสุดท้ายใช้ระยะเวลาการรักษาตัวนาน จึงทำให้เกิด 2 เทรนด์ขึ้นในสังคม คือ
เทรนด์แรก คนไทยหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น เริ่มจากออกกำลังกายกันมากขึ้น รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ล่าสุด เอไอเอ สนับสนุนให้มีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เทรนด์ที่สอง คนไทยเริ่มคิดวางแผนสุขภาพในระยะยาว จนปัจจุบันประกันสุขภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสูงมากในตลาด เพราะต้องวางแผนแต่เนิ่นๆ
สำหรับจุดโฟกัสที่ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพในตลาดนั้น มี 3 จุดคือ
จุดแรก กลุ่มผู้บริโภค ส่วนหนึ่งที่กำลังขยายตัวใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีความเข้าใจการวางแผนสุขภาพในระยะยาวมากขึ้น
จุดที่สอง กลุ่มผู้บริโภค อยากได้ผลิตภัณฑ์ให้พวกเขาหมดความกังวลในห้วงเวลาที่เกิดเรื่องร้ายขึ้นหรือไม่สบายอย่างรุนแรง จะได้เอา Energy ไปทุ่มกับการรักษาที่ไหนดีที่สุดโดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย
จุดที่สาม เวลามองหาประกันสุขภาพในตลาด ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพแบบตัวเดียวคุ้มครองจนจบครบวงจรโดยไม่ต้องมานั่งคิดเอา OPD IPD หรือไม่ หรือซื้อค่าห้องเท่าไหร่ดี เป็นต้น
แพทย์หญิงหฤทัย ไกรวพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการเงินและด้านสุขภาพ เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากบอกว่า ณ วันนี้ อัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาล แพงมากกว่าเงินเฟ้อทั่วไปอย่างน้อย 2 เท่า ตอนนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 6-8% และในอีก 12 ปีข้างหน้าจะแพงขึ้นอีกประมาณเท่านึง
ถามว่า ณ ปัจจุบันเราควรจะมีงบประมาณเท่าไหร่ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลดีๆ สักที่หนึ่ง
จากการสำรวจเก็บข้อมูลและวิจัยมาแล้ว สมมติเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ท้องเสีย ติดเชื้อ เป็นอะไรไม่มาก นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 1 สัปดาห์แล้วกลับบ้านได้ ค่าเฉลี่ยของการบริการในโรงพยาบาลจะตกอยู่ประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อวัน ยังไม่รวมค่าห้อง และถ้ารวมค่าห้องในโรงพยาบาล ปัจจุบันนี้ แพงมากกว่าโรงแรม 5 หรือ 6 ดาว
ถ้าเป็น โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเมือง จะตกอยู่ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อวัน ถ้าคูณ 7 วัน ที่เรานอนพักรักษาตัวด้วยอาการเจ็บป่วยธรรมดาและกลับบ้านได้ เราจะต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 200,000 บาท
ถ้าเป็น โรงพยาบาลรอบนอกเมือง ค่าเฉลี่ยวันละ 20,000 บาทนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 1 สัปดาห์ต้องมีงบประมาณ 120,000 -150,000 บาท ถามว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนเก็บได้ 100,000 – 200,000 บาท และการดูแลรักษาพยาบาลนั้นทางแพทย์จะดูแลเป็นส่วนๆ หากมีโรคไหนเกิดขึ้นตามมาค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ถ้าเป็น คนไข้ ICU เนื่องจากอุปกรณ์จะไฮเทคกว่า เช่น การมอนิเตอร์ คลื่นหัวใจ ใส่อ๊อกซิเจน ต้องมีพยาบาลเฝ้าห้องต่อห้อง คิดเป็น เอ็กซ์คลูสีฟ ในการดูแล ค่าเฉลี่ยโรงพยาบาลเอกชน มีค่าใช้จ่ายปัจจุบันวันละ 100,000-200,000 บาท
ขณะโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีอุปกรณ์ค่อนข้างครบ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยวันละ 30,000-50,000 บาท ต่อวัน ก็ยังแพงอยู่ดี
ปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่มีหมอเก่ง ถึงต่อให้คุณเป็นเจ้าชายนิทรา ไม่สามารถฟังก์ชั่นได้แล้ว แต่หมอก็สามารถทำให้ชีวิตคุณอยู่ได้ยืนยาวไปถึง 2 ปี ล่าสุดเพิ่งมีเคส ญาติมีปัญหาเรื่องสมอง อยู่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ค่าใช้จ่ายตกอยู่เดือนละ 200,000 บาท และนอนแบบนี้มา 2 ปีแล้ว
ถ้าเป็นค่ารักษาพยาบาลโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ นวตกรรมใหม่ๆ สามารถแยกได้ดังนี้
กลุ่มแรก เป็นโรคติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสแปลงกายได้เก่ง ถ้าหากเราให้ยาฆ่าตรงโปรตีนตำแหน่งนี้ เชื้อตัวนี้เปลี่ยนโปรตีนได้ด้วย เพราะฉะนั้น นวัตกรรม ยาฆ่าเชื้อ ยิ่งดี ยิ่งใหม่ ยิ่งแพง ราคาต่อเข็มเริ่มหลักแสนบาท ถ้ารวมค่ารักษาทุกอย่างของโรคนี้เฉลี่ยโดยประมาณ 200,000 – 300,000 บาทต่อครั้ง
กลุ่มสอง เป็นโรคหลอดเลือด สมัยก่อน เส้นเลือดหัวใจตีบคุณภาพชีวิตไม่ดี การรักษาปัจจุบันหมอฉีดสีเข้าไปตันตรงไหนก็กรอเส้นเลือดที่ตีบและใส่ขดลวดเข้าไปเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอีก มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 200,000-300,000 บาท ต่อ 1 เซนติเมตร ถ้า 4 เส้น ตกประมาณล้านกว่าบาท
ถ้าโรคหลอดเลือดสมองตีบ ถ้าไปถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงหมอจะฉีดยาสลายลิ่มเลือดได้เลย ค่าใช้จ่ายตกประมาณ 200,000-300,000 บาทต่อเข็ม
กลุ่มที่สาม เป็นโรคมะเร็ง การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในสมัยก่อนจะต้อง
1.ผ่าตัด
2.ผ่าตัดเสร็จจะให้ยาเคมีบำบัด คือ ท็อกซิล คือสารเคมีที่ฉีดเข้าไปแล้วทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่เซลล์ทั่วไปในร่างกายจะแย่ไปด้วย ดูง่ายๆ ผมร่วง ผิวคล้ำ ร่างกายจะไปทั้งหมด
3.ต่อมามีการรักษาแบบ ทาร์เก็ตเต็ด เทอราปี (Targeted Therapy) เป็นยาเม็ด เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีเปลือกของเซลล์ไม่เหมือนกัน จะมีโปรตีนเกาะอยู่ นักวิทยาศาสตร์จะไปจับดูว่า โปรตีนที่จับอยู่ไม่เหมือนเซลล์ทั่วไปคืออะไร และให้ ยาไปจับที่โปรตีนนี้ ที่เราเรียกว่า ทาร์เก็ตเต็ด เทอราปี จะตรงกับเซลล์มากขึ้นและมียาเม็ดเยอะขึ้น
ค่าเฉลี่ยของยาเม็ด 300,000 – 500,000 บาทต่อเดือน กินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มากไปกว่านั้น ทาร์เก็ตเต็ด เทอราปี มีการดื้อยาได้
กลุ่มที่สี่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษา การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แบบ อิมมูโน เทอราปี (Immuno Therapy) เป็นนวัตกรรมใหม่ของการรักษาโรคมะเร็ง ที่มีการวิจัยใช้ภูมิต้านทานในร่างกายตัวเองกระตุ้นเม็ดเลือดขาวไปจับกินเซลล์มะเร็ง เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดจาก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2014
“จริงๆในชีวิตคนเราจะมีโอกาสเกิดเซลล์ผิดปกติ 7 ครั้งใน 1 ชีวิต เราทุกคนมีโอกาสหมด แล้วทำไมเราถึงไม่เป็น ถ้าเม็ดเลือดขาวเราแข็งแรง จะไปจับกินเซลล์ตั้งแต่เซลล์มีแค่ไม่กี่สิบเซลล์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามร่างกายเรา ดร็อปลง เซลล์มะเร็งจะเพิ่มจำนวนขึ้น กระจายไปจนอยู่ระยะ 4”
สมัยก่อนเวลาป่วยเป็นโรคมะเร็งก็จะให้เคมีบำบัด ซึ่งทำให้ร่างกายแย่ เดี๋ยวนี้พอมีการทำ อิมมูโน เทอราปี (Immuno Therapy) กระตุ้นฉีดยาให้ภูมิต้านทานไปกิน ปรากฏว่าคนเป็นมะเร็งระยะ 4 เดี๋ยวนี้มีเปอร์เซ็นต์รอดชีวิต 20-30% จากการให้ยานี้ ซึ่งมีราคาที่สูงมากเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยแพง
ล่าสุดยาที่มีในประเทศไทยในโรงพยาบาลรัฐบาล ขวดละ 220,000 – 300,000 บาทต่อขวด และต้องให้ยาแบบนี้ทุก 3 สัปดาห์ แปลว่า ค่าใช้จ่ายตกประมาณ 3-5 ล้านบาท ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน มีค่าเซอร์วิสหลายอย่าง ให้คูณไป 3 เท่า ต้องมีเงินประมาณ 10-15 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ผลาญเงินไปหรือชะลอการจากไปของคนไข้ แต่ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสหายจากโรคนี้ได้ สามารถทำงานได้ตามปกติ ถึงบอกว่าการที่มีงบประมาณ ที่มากพอ เลือกยาที่ดี หมอที่ดี จะทำให้เรามีโอกาส รอดชีวิต
แต่เทคโนโลยีใหม่บางอย่างยังไม่นำเข้ามาใช้รักษาในประเทศไทย จะมีค่าใช้จ่ายต่างกัน หากเทียบค่าใช้จ่ายการรักษา ในเอเชียแปซิฟิก เช่น สิงคโปร์ มีค่ารักษาแพงขึ้น 3 เท่า แต่ถ้าเดินทางไปรักษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการรักษาเหมือนกันแต่ค่าใช้จ่ายจะสูงหรือแพงกว่าประเทศไทยถึง 10 เท่า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผ่าตัด โดยใช้หุ่นยนต์มีความเป็นไปได้ที่มีหมอเป็นผู้ควบคุม ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ เที่ยงตรง และเป็นการผ่าตัดที่มีความละเอียดที่ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบจะได้รับการกระทบให้เกิดการบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิมๆและในอนาคต อาจพัฒนาไปถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โดยการใช้แพทย์ควบคุมแบบข้ามประเทศได้
แต่เนื่องจากค่าเครื่องมือมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้การผ่าตัดดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500,000-1,000,000 บาท
สุดท้าย คุณเอกรัตน์ กล่าวย้ำ ว่า การมีเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ช่วยเปลี่ยนชีวิตได้จริงๆ ผลิตภัณฑ์ “เอไอเอ อินฟินิท แคร์” จึงตอบโจทย์ให้ผู้ถือกรมธรรม์ได้อย่างลงตัว.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com