ไขความรู้ บริษัทประกันภัยปิด หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้เอาประกันภัย รับการเยียวยาอย่างไร

เหตุการณ์ไม่คาดฝันของ “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา” มักเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วจะ ตั้งหลัก ตั้งสติ อย่างไร ภายหลังจาก  “บริษัทประกันวินาศภัย” ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือ ปิดกิจการไป

ลำดับแรกนั้น ทางกองทุนประกันวินาศภัย โดยบทบาทหน้าที่หลักตามกฎหมาย จะเข้ามาให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยา “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา” เพื่อให้ “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา” ได้รับสิทธิ์พึงมีคืน ตามกฎหมายและเป็นธรรม

วันนี้ คุณวราภรณ์ วงศ์พินิจวโรดม ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย มีความรู้มาไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกัน ดังนี้

การให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยา “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา” หรือภาษาทางการเรียกว่า การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย สำหรับเจ้าหนี้  โดย “เจ้าหนี้” คือ “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา”  ซึ่งจะเยียวยา อย่างไรนั้น ทาง กองทุนประกันวินาศภัย จะมีหลักในการพิจารณาการชำระหนี้ หรือ เยียวยา ส่วนที่เหลือเป็นมูลหนี้คืนให้  

ตัวอย่างของ หลักการพิจารณาการชำระหนี้ของกองทุนฯ  

จำนวนเงินชำระหนี้ “ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา” โดยกองทุนประกันวินาศภัย ได้รับจาก “ผู้ชำระบัญชี” หรือ “กรมบังคับคดี” รวมกันแล้วไม่เกิน 1,000,000  บาท  เช่น

กรณี  นาย ก. ได้ขอรับการชำระหนี้ ด้วยมูลหนี้  20,000 บาท แต่ปรากฏว่าทาง “ผู้ชำระบัญชี” หรือ “กรมบังคับคดี” ได้จ่ายหนี้คืนให้ไปแล้วจำนวน 10 บาท โดยวิธีการเฉลี่ยทรัพย์

ดังนั้น ทางกองทุนฯ จะทำการพิจารณาต่อว่า  มูลหนี้ของ นาย ก. จำนวน 20,000 บาทนั้น  จะสามารถจ่ายได้เต็มจำนวนมูลหนี้ ที่ 20,000 บาทหรือไม่ 

ถ้าพิจารณาแล้วสามารถจ่ายได้เต็มมูลหนี้จำนวนดังกล่าว  ทาง กองทุนฯ ก็จะดำเนินการ ชำระหนี้ให้โดย จะหักเงินที่ “ผู้ชำระบัญชี” หรือ “กรมบังคับคดี” ได้จ่ายหนี้คืนให้ นาย ก. ไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 10  บาท ( 20,000 – 10 บาท)

ดังนั้น นาย ก. จะเหลือจำนวนเงินมูลหนี้ที่กองทุนฯพึงจะต้องจ่ายให้ คือ  19,990  บาท

แต่ถ้าในกรณีที่ กองทุนฯพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า มูลหนี้ที่ นาย ก. ขอรับการชำระหนี้จำนวน 20,000  บาทนั้น มีเหตุบางรายการ ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้  เช่น ดอกเบี้ย  ทางกองทุนฯก็จะต้องนำมาหักออกก่อนชำระคืน เช่น

ดอกเบี้ย 3,000 บาท  นาย ก. ก็จะเหลือมูลหนี้ที่กองทุนฯจะพิจารณาจ่ายให้ได้คือ 17,000  บาท และเมื่อ เจ้าหนี้ หรือ นาย ก. รับเงินจาก “ผู้ชำระบัญชี” หรือ “กรมบังคับคดี” ไปแล้ว 10 บาทจากการเฉลี่ยทรัพย์   

ทาง กองทุนฯก็จะต้องนำมาหักออกด้วย ฉะนั้น เจ้าหนี้ หรือ นาย ก. จะได้รับมูลหนี้คืนทั้งหมดจำนวน 16,990  บาท เป็นต้น.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน