“สุทธิพล” เผย 6 ปัจจัยดันอุตสาหกรรมประกันภัยปี 62 โต 4-6%

ให้แบงก์ยกหูโทรฯขายประกันฯได้แทนเคาะประตูบ้าน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจประกันภัยปี 2562 ว่า  ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตในปี 2561 ประมาณการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4  ส่วนวินาศภัยเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 ดังนั้นภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยของปี 2562 จึงน่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 4-6 โดยมีปัจจัยช่วยกระตุ้นให้เติบโตได้คือ 1.เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 2.โครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็คต์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AEC  การสร้างรถไฟฟ้าต่างๆ  3.เรื่องของธุรกิจประกันชีวิตที่เกี่ยวเนื่องไปยังประกันสุขภาพที่มีเรื่องค่าลดหย่อนรวมถึงประกันชีวิตส่วนตัวของประชาชนที่หันมาห่วงใยเรื่องของสุขภาพมากขึ้น   ซึ่งคปภ.จะไปช่วยขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่แนวอนุรักษ์แบบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกันภัยของผู้สูงอายุแม้จะมีอยู่ในปัจจุบันแต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะฉะนั้น ยังมีช่องว่าง ที่อุตสาหกรรมประกันภัยสามารถเติบโตได้ขณะเดียวกันความเสี่ยงมีมากขึ้น 4.มีการลงทุนมากขึ้น  5.มีเรื่องของการเลือกตั้งที่จะตามมา 6.ความคึกคักเรื่องของการลงทุน การเพิ่มทุนต่างๆในฝั่งของประกันภัย เชื่อว่าปี 2562 ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยมีการเติบโตค่อนข้างดี

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคนโยบาย คปภ.เองนั้นได้เตรียมเน้นนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยมากขึ้นจากเดิม แต่ก็ไม่ได้ละเลยสิทธิประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกกฎ กติกา ซึ่งเริ่มปี 2561 แล้วแต่ยังไม่ค่อยเห็นผลแต่ปีหน้าจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ยังมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย คือในปี 2561 นี้ ภาคธุรกิจอาจจะยังมองว่า คปภ.มีการกำกับมาก ในปีนี้ คปภ.เป็นปีที่ออก กฎ กติกามากเป็น กฎที่วางกรอบไว้ และในปี 2562 จะต้องนำเอากฎ กติกาหลักมาออกเป็น กฎ  กติกาลูก จะช่วยกำกับทิศทางในการส่งเสริมได้โดยปรับให้เกิดความยืดหยุ่นได้ ฉะนั้นปีหน้าจะเป็นปีที่มองเห็นทิศทางของการส่งเสริมธุรกิจประกันภัย มากกว่าการเข้าไปกำกับ และจะมีการยกเลิกกฎ กติกาที่ไม่จำเป็นเพื่อไม่เป็นภาระทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ

ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า ยังมีการส่งเสริมนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ที่ขณะนี้มีกลุ่ม Start up เข้ามาติดต่อและได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สำคัญมีเรื่องของ เคลม เกตเวย์ มาพัฒนาระบบให้ประชาชนและบริษัทประกันภัยได้ใช้เคลมค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทประกันภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนปีหน้าจะมีโครงการนี้ออกมา

นอกจากนี้ในส่วนของการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมหรือ มาร์เก็ต คอนดักส์ ในปีหน้าจะเห็นมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกนั้นว่าด้วยเรื่องกฎหมายลูก มีการแก้ไขในพ.ร.บ.ประกันชีวิตและประกันภัย มาช่วยให้ คปภ.สามารถกำกับดูแลการประกันภัยได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการกำกับการประกันภัย ในกฎหมายแม่ ไม่ได้ให้อำนาจ คปภ.โดยตรง ทำให้ไปกำกับผ่านบริษัทประกันภัย ซึ่งก็มีประโยชน์ แต่ก็มีช่องว่างในส่วนของนายหน้าประกันภัย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ใหม่ถ้าผ่านในเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีผลถัดไปในอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน  จะมีเรื่องของ การฉ้อฉล ประกันภัย  ส่วนกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 คือ ตัวประกาศขายแทนฉบับเดิมปี 2551-2552 จะมีเรื่องของการให้ความเป็นธรรมกับลูกค้า จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น เช่น การขายผ่านโทรศัพท์ แต่เดิมธนาคารขายไม่ได้ แต่คปภ.จะวางกฎ กติกา ให้ ขายได้ แต่อยู่ในกรอบ หรือแม้แต่เคาะประตูบ้านขายก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ยังไม่ได้ เพียงแต่ว่ารอความชัดเจน  วางกรอบว่าแนวปฏิบัติอะไรทำได้ ไม่ได้ เพราะบางกรณีมีการคาบเกี่ยวกัน เช่น งานออกบู้ธการเงินต่างๆสามรารถทำได้ หรือแม้กระทั่งไปเซอร์วิสลูกค้ารายใหญ่ทาง คปภ.ก็ได้กำหนดกรอบความชัดเจนขึ้นมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คปภ.จะไม่คิดเอง ออกเอง แต่จะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน เพื่อรับฟังข้อเปรียบเทียบทั้งข้อดี และข้อเสียเพื่อให้แนวปฏิบัติต่างๆในกฎหมายลูก ที่กำลังจะออกมามีความชัดเจนและมีความยืดหยุ่นบังคับใช้ได้โดยมีประสิทธิภาพ

“อย่างการเดินขายประกันนั้นไม่ได้อยู่แล้ว แต่การบริการลูกค้าที่ร้องขอมาตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาต่อ ว่าเป็นบริการต่อเนื่อง ไม่ใช่เริ่มจากธนาคารเอง น่าจะทำให้เกิดความยืดหยุ่น ซึ่งตรงนี้มีทั้งข้อเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทั้งจาก สมาคมตัวแทน สมาคมธนาคารไทย  สมาคมประกันชีวิต ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักว่าให้กฎ กติกาออกมาเป็นธรรมและเป็นกลางยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” ดร.สุทธิพล กล่าว.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน