สวิส รี” ผู้รับประกันภัยต่อแถวหน้าของโลก ชี้ ปี2567 บริษัทประกันภัยในเอเชียวางเป้าหมายรุกตลาดประกันภัยสุขภาพ -โรคร้ายแรง  ชี้“เทคโนโลยี”กุญแจสู่ความสำเร็จ

เว็บไซต์ Insurance Asia รายงานว่า  สวิส รี ได้ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ การที่ประชาชนเปลี่ยนความสนใจไปที่เรื่องของสุขภาพมากขึ้นเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นที่บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องปิดช่องว่างความคุ้มครอง (protection gap )ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สวิส รี ได้ฉายภาพว่า  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่มีความกระตือรือร้นเชิงเศรษฐกิจ (economically active (EA) ของสิงคโปร์มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองการเสียชีวิตและความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (critical illness :CI) ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนหน้านั้นเลย  และเพื่อจัดการกับสถาณการณ์ดังกล่าว  อุตสาหกรรมประกันภัยถูกเรียกร้องให้ต้องพัฒนาโครงการประกันภัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองด้านสุขภาพให้กับประชาชนในสิงคโปร์

Daisy Ning หัวหน้าฝ่ายประกันสุขภาพและสุขภาพประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก(ไม่รวมจีน) บริษัท สวิส รี กล่าวกับ  Insurance Asia ว่า  “เรื่องสุขภาพเป็นกลยุทธ์อันดับต้นๆ อย่างแน่นอนสำหรับบริษัทประกันภัยรายใหญ่ๆที่มีบทบาทอย่างมากในตลาดเอเชีย คุณสามารถจินตนาการชื่อบริษัทประกันภัยรายใหญ่ๆทั้งหมดนี้ได้  ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทเหล่านั้นจะบอกคุณว่า กลยุทธ์หลักของเขาคือเรื่องสุขภาพ ฉันเห็นอย่างชัดเจนว่าในปี 2567 จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้นในด้านการคุ้มครองสุขภาพ”

Ning ได้เจาะลึกถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย  โดยเน้นย้ำถึงความท้าทายต่างๆ   รวมถึงนวัตกรรมและแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่การเพิ่มความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปจนถึงการแก้ไขช่องว่างความคุ้มครองในภูมิภาคนี้

ตามการศึกษาช่องว่างความคุ้มครองในปี 2565 ที่สมาคมประกันชีวิตสิงคโปร์   (Life Insurance Association :LIA) จัดทำขึ้น พบว่า  ช่องว่างความคุ้มครองการเสียชีวิตในสิงคโปร์อยู่ที่ 3.73 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 21% ของความต้องการการคุ้มครองการเสียชีวิตสำหรับประชากรที่มีความกระตือรือร้นเชิงเศรษฐกิจ  โดยช่องว่างนี้ที่ได้พิจารณาถึงการประกันภัยและการออม ได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การศึกษาครั้งก่อนในปี 2559

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนของความต้องการการคุ้มครองการเสียชีวิตของคนสิงคโปร์พบว่า  ช่องว่างดังกล่าวยังคงค่อนข้างคงที่ระหว่างปี 2560 ถึงปี 2565 มีสาเหตุมาจากระดับรายได้โดยรวมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างงานเพิ่มขึ้น  เงินออม และความคุ้มครองประกันภัยสูงขึ้น

รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจเจกบุคคลแต่ละรายในการทบทวนและปรับปรุงการวางแผนทางการเงินของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ในขณะเดียวกัน ความต้องการการคุ้มครองโรคร้ายแรงของประชากรที่มีความกระตือรือร้นเชิงเศรษฐกิจอยู่ที่ 7.83 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์  (5.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หมายถึงความต้องการในการคุ้มครองโรคร้ายแรงโดยรวมอยู่ที่ 3.9 เท่าของรายได้ต่อปี

ความคุ้มครองการประกันภัยโรคร้ายแรงทั้งความคุ้มครองสำหรับรายบุคคลและกลุ่ม คาดว่าจะอยู่ที่ 2.04 แสนล้านดลลลาร์สิงคโปร์  (1.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)  โดยเหลือช่องว่างความคุ้มครองประกันภัยโรคร้ายแรงอยู่ที่ 5.79 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์(4.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับการศึกษาครั้งก่อนในปี 2559 ความต้องการการคุ้มครองประกันภัยโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นในจำนวนที่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างความคุ้มครองโรคร้ายแรงเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของความต้องการความคุ้มครองแล้ว ลดลงจาก 81% เหลือ  74% ระหว่างปี  2560 ถึงปี 2565 การลดลงนี้มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มความคุ้มครองโรคร้ายแรงมากขึ้น   ซึ่งเพิ่มขึ้น 67% ตั้งแต่ปี2560 เป็นต้นมา

Ning กล่าวว่า แม้จะมีเงินทุนไหลเข้าสู่บริษัทประกันภัย  แต่วัตถุประสงค์หลักยังคงชัดเจน นั่นคือ เพื่อลดอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) และเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain)  

ความท้าทายของเทคโนโลยี

Ning กล่าวว่า เทคโนโลยีล่าสุดมีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้บริษัทประกันภัยบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ โดยสามารถลดอัตราความเสียหายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับบริษัทประกันภัยได้

“ฉันเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถลดอัตราความเสียหายลงได้ประมาณ 3% ถึง 8% และลดต้นทุนลงได้ 10% ถึง 20% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ” เธอกล่าวถึงผลของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประกันภัย พร้อมกับเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยการใช้ข้อมูลทางเลือกและการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงทั้งการตัดสินใจทางธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้า

เธอยังสังเกตเห็นแนวโน้มที่บริษัทประกันภัยต่างๆ สร้างแอปพลิเคชันของตนเองขึ้นจากแพลตฟอร์มดิจิทัล “ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจำนวนมากกำลังผลิตแอปพลิเคชันของตนเองจากแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี( wellness )บางราย เพื่อทำให้ประสบการณ์การประกันภัยมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”

เธอกล่าสถึงสวิส รี ที่ได้พัฒนา เครื่องมือรับประกันภัยอัตโนมัติ “Magnum “มากว่าสองทศวรรษแล้ว  ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมประกันภัยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี   โดยเครื่องมืออัตโนมัติเหล่านี้ทำให้กระบวนการพิจารณารับประกันภัยทำได้ง่ายขึ้น และแนวโน้มระบบอัตโนมัติยังได้ขยายไปถึงกระบวนการเคลมสินไหมทดแทนด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเอเชีย  คุณภาพของข้อมูลในหลายๆประเทศยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ

 “คุณภาพของข้อมูลบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ คุณต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพดีมากจึงจะมีการประเมินคุณภาพได้ การบรรลุอัตราการประมวลผลโดยตรงที่สูงขึ้นนั้นจำเป็นต้องอาศัยแนวทางที่เหมาะสมในการประเมินความเสี่ยง และให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการรับประกันภัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานปัญญาประดิษฐ์ (incorporating artificial intelligence :AI) เข้าด้วยกัน” เธอบอกกับ Insurance Asia ในตอนท้าย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน