คาดตลาดประกันไซเบอร์เอเชีย เติบโตเป็น 3 เท่าภายในปี 2568 ขานรับต้นทุนอาชญากรรมไซเบอร์พุ่งพรวดเกือบ 24 ล้านเหรียญภายในปี 2570 ชี้เอเชีย เสี่ยงสูงเพราะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเร็ว เปิดช่องถูกโจมตีทางไซเบอร์ “เอสเอ็มอี” เป้าหมายใหญ่
เว็บไซต์ Insurance Asia รายงานว่า บริษัท ซูริค อินชัวรันส์ กรุ๊ป( Zurich Insurance Group )และ บริษัท มาร์ช แม็คเลนแนน ( Marsh McLennan) เผยแพร่สมุดปกขาว (White paper) หัวข้อ “การปิดช่องว่างความคุ้มครองความเสี่ยงทางไซเบอร์: Closing the Cyber Risk Protection Gap” คาดการณ์ ตลาดประกันภัยไซเบอร์ในเอเชียจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2568 เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ พยายามเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์และรับรองความสามารถในการฟื้นตัวทางธุรกิจ โดยใช้ประกันภัยไซเบอร์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
สมุดปกขาวได้ระบุถึงช่องว่างที่สำคัญในการป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี(SME)ที่มักไม่มีประกันภัยหรือมีประกันภัยแต่ไม่เพียงพอ
เหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่สำคัญ อาทิ มีมัลแวร์(malware) เกิดขึ้นจำนวนมาก ,การหยุดทำงานของคลาวด์ (cloud) และความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้น ก่อให้เกิดความท้าทายต่ออุตสาหกรรมประกันภัยที่สามารถคุ้มครองความเสียหายทางการเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยการโจมตีทางไซเบอร์(Cyber Attack) ในภูมิภาคนี้คิดเป็น 23% ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2566
“คาดว่าต้นทุนของอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 จากเกือบ 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนของเหตุการณ์ที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การหยุดให้บริการของ CrowdStrike เมื่อไม่นานมานี้” ข้อความตอนหนึ่งในเอกสาร
Debra Burford หัวหน้าฝ่ายประกันภัยบริษัท ซูริค อินชัวรันส์ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยทั้ง Mario Greco ซีอีโอกลุ่มบริษัท ซูริค อินชัวรันส์ และ John Doyle ประธานและซีอีโอ บริษัท มาร์ช แม็คเลนแนน ได้สนับสนุนข้อคิดเห็นดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดช่องว่างความคุ้มครอง
นอกจากนี้ สมุดปกขาวยังเสนอให้จัดตั้งกรอบการทำงานร่วมสำหรับการแบ่งปันข้อมูล( data sharing) และความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันภัยและภาครัฐ ซึ่งรวมถึงแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ กลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงที่ไม่สามารถวัดปริมาณได้และวิธีการวัดความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง โดยมาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่า สังคมมีความสามารถในการฟื้นตัวและบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญที่เกิดจากเหตุการณ์ทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ได้
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com