ดีล MA& ทั่วโลกขาลง ครึ่งปีหด 37% ต่ำสุดในรอบ14ปี สารพัดปัญหาถาโถมทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น  เศรษฐกิจท้าทาย เงินเฟ้อสูงแถมวิกฤติธนาคารกระทบเต็มๆ ฉุดดีลในอเมริกาและยุโรปหายวับ   งานนี้“เมกะดีล” แจ๊กพ็อต!ด้วย วูบไปเยอะ  เผยเอเชียยังทำผลงานเยี่ยม”ปิดดีล”ได้ดีกว่าทั้งโลก  คาดครึ่งปีหลัง ดีล M&A อาจพุ่งจากปัจจัยหนุนดิจิทัล การปรับพอร์ตโฟลิโอ และ ESG  

เว็บไซต์ Insurance Business America  รายงานว่า WTW และ ศูนย์วิจัย M&A ของ The Bayes Business School ได้เปิดเผยรายงานผลการติดตามดีลควบรวมและซื้อกิจการ (M&A ) รายไตรมาสที่ทำร่วมกันระบุว่า  กิจกรรม M&A ในทุกตลาดทั่วโลกลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ  

รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกมีจำนวนข้อตกลง M&A ที่เสร็จสมบูรณ์เกิดขึ้นทั่วโลก 280 ดีล มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลง 37%  เมื่อเทียบกับ  441 ดีลในช่วงครึ่งปีแรกของปี  2565  ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่ต่ำที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกนับตั้งแต่ปี 2552

WTW รายงานว่า  ภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอเมริกาเหนือส่งผลกระทบต่อการทำดีล M&A  ปริมาณดีลลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ไตรมาสติดต่อกัน   โดยในไตรมาสที่2 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ปี2566 จำนวนดีลลดลงเหลือเพียง 61 ดีลเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 173 ดีลในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ซึ่งเป็นจำนวนดีลที่สูงสุดตลอดกาล  

นอกจากจำนวนดีล M&A ที่ลดลงแล้ว ประสิทธิภาพของผู้ซื้อกิจการที่ทำธุรกรรมเสร็จสิ้นในปี 2566 ยังมีประสิทธิภาพต่ำกว่าตลาดถึง 2.1 %  สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เป็นบวกเพียง 4.4 % ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่การควบรวมและซื้อกิจการทั่วโลกยังคงมีผลการดำเนินงานที่เป็นบวกโดยรวมที่ 1.4% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

Jana Mercereau   หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้าน M&A ธุรกิจองค์กรเกาะบริเตนใหญ่ (Great Britain)  WTW กล่าวว่า “พายุที่สมบูรณ์แบบ (perfect storm ) ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น  ดอกเบี้ยขึ้น  ต้นทุนเงินทุน และกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เมื่อรวมกับอุปสรรคทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญๆและวิกฤติด้านการธนาคารแล้ว ทำให้กิจกรรม M&A ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก  โดยผู้ซื้อกิจการต้องเปลี่ยนเกียร์เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้าน M&A ที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แม้ว่าการเจรจาทำดีลจะดำเนินต่อไปตลอดช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ก็ตาม  แต่ด้วยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ผู้ซื้อกิจการที่มีศักยภาพจะต้องเริ่มทำภาระกิจให้หนักขึ้นอีกนิด ในการแสวงหาดีลเพื่อจัดลำดับความสำคัญเชิงกุลยุทธ์  ขยายสู่ตลาดใหม่ และเติมเต็มช่องว่างด้านความสามารถทางธุรกิจ”

Mercereau กล่าวอีกว่า ผู้ซื้อกิจการต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม M&A ที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่การหารือเกี่ยวกับดีล M&A ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังนี้ โดยผู้ซื้อกิจการที่มีศักยภาพจะเข้าใกล้ดีลที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น ในขณะที่พวกเขาแสวงหาลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ การขยายตลาด และการเพิ่มขีดความสามารถ

รายงานระบุว่า ประสิทธิภาพของดีล M&A ในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมาจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้หากไม่รวมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก  โดยผู้ซื้อกิจการในเอเชียแปซิฟิกมีประสิทธิภาพแซงหน้าดัชนีในภูมิภาค 10.9 %   แม้ว่าภูมิภาคนี้จะยังคงมีปริมาณการซื้อขายลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ก็ตาม

ในทางกลับกัน ผู้ซื้อกิจการในตลาดอเมริกาเหนือทำผลงานต่ำกว่าดัชนีของตลาดอเมริกาเหนือ 5.9%  เช่นเดียวกับผู้ทำดีลในยุโรปที่ทำผลงานต่ำกว่าดัชนีในภูมิภาค 8.3 %

WTW เผยอีกว่า ดีล M&A ที่ลดลง รวมดีลขนาดใหญ่ ( mega deals) ที่ปิดดีลได้เพียง 3 ดีลเท่านั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เทียบกับ 12 ดีลในช่วงเวลาเดียวกันของปี2565  โดยไตรมาสที่สองของปี 2566 ประสิทธิภาพของผู้ซื้อกิจการในอเมริกาเหนืออยู่ที่  -10.3 %  ซึ่งแย่ที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ประสิทธิภาพของผู้ซื้อกิจการในยุโรปในช่วงเดียวกันแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -10.8 %เช่นกัน

ดีล M&A ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับดีลข้ามภูมิภาค ในทำนองเดียวกัน ดีลภายในภาคธุรกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 57% ในไตรมาสแรกของปี 2566 เป็น 67% ในไตรมาสที่2   ซึ่งบ่งชี้ถึงความต้องการที่ชัดเจนสำหรับการทำดีลใกล้บ้าน

 “เมื่ออัตราเงินเฟ้อคงที่และตลาดสินเชื่อเปิดขึ้นอีกครั้ง เราคาดว่าความต้องการทำดีล M&A จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความต้องการที่ถูกกักไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การปรับสมดุลพอร์ตโฟลิโอ และESG จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก  ซึ่งดีลที่มีขนาดใหญ่กว่ายังคงเกิดขึ้นยากเนื่องจากการต่อต้านการผูกขาดและการผลักดันกฎระเบียบใหม่ๆเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน บริษัทต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำดีลขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งทำได้ง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่าในสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ยากลำบากในปัจจุบัน แต่ในการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งดีลไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม การตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน( due diligence ) ที่เร็วกว่า ลึกกว่า และโฟกัสได้ดีกว่า เมื่อรวมกับแผนการเพื่อการรวมที่ประสบความสำเร็จ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยามที่ตลาดมีความผันผวนเช่นนี้” Mercereau กล่าวในตอนท้าย

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน