FSC หน่วยงานกำกับไต้หวันห่วง 3 ค่ายประกันชีวิตเงินกองทุนต่ำเกณฑ์กฎหมาย จี้แก้ไขด่วน! งัดทุกมาตรการขายทรัพย์สิน ออกหุ้นกู้ ระดมเงินเพิ่มทุนยกCAR Ratio เหนือ 200% ด้านประกันวินาศภัยขยายตัวต่อเนื่อง โต 6.4%
เว็บไซต์ Insurance Business America รายงานข่าวจาก The Taipei Times สื่อในไต้หวันว่า คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงิน (Financial Supervisory Commission :FSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ประกันภัยของไต้หวันเป็นห่วงสุขภาพทางการเงินของบริษัทประกันชีวิตในประเทศ 3 บริษัท หลังจากทั้ง 3 บริษัทได้ประกาศงบการเงินในช่วงครึ่งปีแรก
The Taipei Times เผยว่า FSC จะออกจดหมายเตือนไปยัง บริษัท Shin Kong Life Insurance บริษัท Mercuries Life Insurance และบริษัท Hontai Life Insurance เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทไม่สามารถรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนตามความเสี่ยงหรือ CAR Ratio(risk-based capital) ให้อยู่ในระดับที่กฎหมายประกันภัยกำหนดขั้นต่ำที่ 200% ได้
นอกจากนี้ กฎหมายประกันภัยยังกำหนดว่า บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทจะต้องรักษามูลค่าสุทธิให้ได้อย่างน้อย 3% ในช่วงเวลาการตรวจสอบล่าสุดอย่างน้อยหนึ่งในสองช่วง โดยบริษัทประกันชีวิตที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายประกันภัยได้จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มสถานะทางการเงินของตนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการเพิ่มทุน การขายทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือการดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ
The Taipei Times เผยอีกว่า ในบรรดาบริษัทประกันชีวิตทั้ง 3 บริษัท บริษัท Shin Kong Life ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นตามกฎหมายประกันภัยได้ โดยอัตราส่วนเงินกองทุนตามความเสี่ยงหรือ CAR Ratio ลดลงเหลือ 184.38% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่ง FSC ได้สังเกตเห็นการลดลงของอัตราส่วนเงินกองทุนตามความเสี่ยงของบริษัทฯในปีที่ผ่านมาและได้แจ้งบริษัทฯให้มีการปรับปรุงระดับเงินกองทุนให้ได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายประกันภัยกำหนดไว้ให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ระดับเงินกองทุนของบริษัทฯยังไม่ดีขึ้น ขณะนี้ FSC ได้ร้องขอมาตรการเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทฯแก้ไขปัญหาฐานะการเงินให้ลุล่วง อย่างไรก็ตาม บริษัท Shin Kong Life ยังคงรักษาอัตราส่วนมูลค่าสุทธิไว้ที่ 4.34% ซึ่งเกินกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายประกันภัยกำหนดไว้ได้
สำหรับบริษัท Mercuries Life มีอัตราส่วนเงินกองทุนตามความเสี่ยงอยู่ที่ 140.23% โดยบริษัทฯเพิ่งประกาศแผนการเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นใหม่ 500 ล้านหุ้นเพื่อเพิ่มระดับเงินกองทุนให้ตามตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี แม้บริษัท Mercuries Life จะปรับปรุงอัตราส่วนมูลค่าสุทธิจาก 2.19% เป็น 2.84% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 3% ตามกฎหมายอยู่ดี
ด้านบริษัท Hontai Life รายงานอัตราส่วนเงินกองทุนตามความเสี่ยงอยู่ที่ 145.82% และอัตราส่วนมูลค่าสุทธิอยู่ที่2.42% โดยบริษัทฯได้เสนอให้มีการเพิ่มทุนด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ แต่ประสบปัญหาในการหาผู้ซื้อทรัพย์สินเหล่านี้
อย่างไรก็ดี ในรายงานที่แยกออกมาอีกฉบับระบุว่า ภาคประกันวินาศภัยของไต้หวันมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีต่อๆ ไป โดยคาดว่า อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 6.4% โดยเบี้ยประกันภัยรับรวม (GWP)จาก 2.481 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (8.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.178 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน ( 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2570
อนึ่ง อุตสาหกรรมประกันชีวิตของไต้หวันมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสภาพคล่องหลังจากเมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด(Federal Reserve )ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลทำให้บริษัทประกันชีวิตเห็นการขาดทุนจากการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง รายได้ลดลง และการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นทันที โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทประกันชีวิตมีความเสี่ยงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจะมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไร โดยประมาณ 60% ของการถือครองสินทรัพย์ลงทุนของภาคประกันชีวิตอยู่ในพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการป้องกันความเสี่ยงขนานใหญ่ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้มูลค่าของการถือครองดังกล่าวลดลงและค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ยิ่งกว่านั้น บริษัทประกันชีวิตยังจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันตามความคุ้มครองในกรมธรรม์เพิ่มขึ้นอย่างมาก มากกว่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับเข้ามาในระบบ
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....


ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com