จับตา!ภาคประกันวินาศภัยสิงคโปร์ คาดปี’66-67 โต 6.9%และ 5.6% ชี้ตลาด PA&H ซึ่งเป็นเซกเมนต์ใหญ่สุดโตเยอะสุด รับดีมานด์ประกันสุขภาพพุ่งขึ้นเรื่อยๆ หลังโควิด บวกอานิสงส์จากภาครัฐทุ่มลงทุนก้อนโตโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน กฎบังคับการขอสินเชื่อบ้านต้องทำประกันอัคคีภัย ดันประกันทรัพย์สินขยายตัว แถมเงินเฟ้อกระชากค่าเบี้ยประกันแพงขึ้นอีกทาง ฟากแบงก์ชาติสิงคโปร์หนุนประชาชนอยู่ดีกินดี ใช้ระบบประกันภัยเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ชี้สารพัดปัจจัยบวกหนุนเบี้ยประกันโตต่อเนื่อง คาดพุ่งแตะ”นิวไฮ” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เว็บไซต์ Insurance Business America รายงานข้อมูลจากบริษัท โกลบอลดาต้า(GlobalData) คาดการณ์ อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของสิงคโปร์จะเติบโต 6.9% ในปี 2566 และ 5.6% ในปี 2567 เป็นผลจากรัฐบาลมีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19
โกลบอลดาต้า คาดว่า อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของสิงคโปร์จะเติบโตด้วยอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 5.8% โดยจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม(GWP) เพิ่มขึ้นจาก 5.54 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (4.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) (1ดอลลาร์สิงคโปร์ประมาณ26บาท) ในปี 2566 เป็น 7.35 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2571
Swetansha Chauhan นักวิเคราะห์ประกันภัยบริษัท โกลบอลดาต้า กล่าวว่า “หลังจากได้เห็นการเติบโตที่สูงในปี 2564 และ 2565 คาดว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของสิงคโปร์จะชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
“ปัจจัยต่างๆทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ คาดว่าจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตช้าลงในปี 2566”
ปัจจุบัน ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันสุขภาพ (PA&H) เป็นธุรกิจประกันภัยที่มีส่วนแบ่งการตลาด(market share) มากที่สุดในภาคประกันวินาศภัยของสิงคโปร์ โดยคาดว่า ในปี 2566 กลุ่ม PA&H จะมีเบี้ยประกันภัยคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 23.9% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบ แซงประกันภัยรถยนต์ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากตลาด PA&H มีอัตราการเติบโตสูงถึง 32.6% ในปี 2565 สาเหตุหลักมาจากความต้องการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กอปรกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ และทั่วโลกได้ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางหลังโควิด-19 สิ้นสุดลงทำให้ประชาชนมีการเดินทางกันมากขึ้น
การเติบโตของประกันภัย PA&H ยังเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ โดยเมื่อต้นปี 2566 กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ได้บังคับใช้กฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติทั้งใหม่และเก่า รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านและผู้ถือบัตรผ่านการจ้างงานระยะสั้น (S Pass) ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังเสนอเงินอุดหนุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือนายจ้างในการจัดหาประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติ จากปัจจัยบวกข้างต้นคาดว่า ตลาดประกันภัย PA&H จะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 6.6% ในช่วงปี 2566-2571
ประกันทรัพย์สินหนุนเติบโต
Motorขาลงเจอปัจจับลบเยอะ
โกลบอลดาต้ากล่าวว่า ประกันภัยทรัพย์สิน เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองในธุรกิจประกันวินาศภัยของสิงคโปร์ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 19.1% ในปี 2566 ซึ่งการขยายตัวของประกันภัยทรัพย์สินขับเคลื่อนด้วยการประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับตามข้อกำหนดของคณะกรรมการพัฒนาและที่อยู่อาศัย (Housing and Development Board :HDB) เมื่อประชาชนได้รับสินเชื่อบ้าน
นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการก่อสร้างและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของประกันภัยทรัพย์สินอีกด้วย โดยการอาคารและการก่อสร้าง Building and Construction Authority (BCA) คาดว่า รัฐบาลจะมีการเซ็นสัญญามูลค่าสูงถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในภาคการก่อสร้างในปี 2566 นี้ ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของประกันภัยทรัพย์สินเช่นกัน โดยคาดว่า ประกันภัยทรัพย์สินจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 6.2% ในช่วงปี 2566-2561
สำหรับประกันภัยรถยนต์ มีส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับที่สาม โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 18.4% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบในปี 2566 ซึ่งข้อมูลจากองค์การขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2565 ตลาดประกันภัยรถยนต์ในสิงคโปร์ขยายตัวลดลง 7.9% สาเหตุหลักมาจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมสำหรับการซื้อรถยนต์ระดับไฮเอนด์ส่งผลกระทบต่อราคารถยนต์และยอดขายในเวลาต่อมา
โกลบอลดาต้ากล่าวว่า ปัจจัยที่เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากสถานการณ์ดังกล่าวคือการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ทั่วโลกและการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมใบรับรองสิทธิ (certificate of entitlement (COE)(เอกสารการครอบครองรถยนต์ในสิงคโปร์) ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลให้ราคารถยนต์สูงขึ้น กระทบยอดขายรถยนต์ลดลง โดย COE เป็นระบบจำกัดจำนวนรถยนต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยผู้ถือ COE มีสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ได้เป็นเวลา 10 ปี เมื่อครบเวลาดังกล่าวจะต้องทำลายรถยนต์หรือส่งออกรถยนต์หรือต่ออายุ COE ไปอีกหนึ่งครั้งมีกำหนด 5 หรือ 10 ปี (ต่ออายุได้เพียงครั้งเดียว) ซึ่งCOE ส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการเป็นเจ้าของยานพาหนะใหม่
สำหรับประกันภัยประกันความรับผิดบุคคลที่สาม ประกันภัยสายการบิน ประกันภัยการเดินเรือ การบิน และการคมนาคมขนส่ง (MAT) และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันในส่วนที่เหลืออีก 38.6%
“ในปี 2565 สัดส่วนเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจีดีพีในสิงคโปร์อยู่ที่ 0.8% ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) อาทิ เกาหลีใต้ (1.5%) ญี่ปุ่น (1.8%) จีน (1.2% ) และฮ่องกง (1.7%) สะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโตยังมีอยู่อีกมากสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยไปในสิงคโปร์ ซึ่งความต้องการประกันสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น การประกันอัคคีภัยภาคบังคับ และราคาเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในสิงคโปร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย” Chauhan กล่าว
ปัจจุบัน ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore :MAS) ซึ่งได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลการเงินหลายประเทศได้เปิดเผยแนวทางการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐานที่มุ่งส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์สามารถสนับสนุนความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีขึ้นของพวกเขาได้
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com