ในการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มี.ค. นี้ คาดว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 4.75-5.00% หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนก.พ. ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นธนาคารสหรัฐฯ ปิดกิจการ เฟดคงมีท่าทีลดความแข็งกร้าวลง พร้อมกับคงต้องส่งสัญญาณให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบในวงกว้าง ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งคงเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจที่ต้องติดตาม

แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนก.พ. 2566 จะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางประเด็นในภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.พ. 2566 ชะลอลงอยู่ที่ 6.0% YoY แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่หักราคาอาหารและพลังงาน กลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.5% MoM และ 5.5% YoY ซึ่งสะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ ตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุดก็ยังสะท้อนภาพว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นธนาคารสหรัฐฯ เผชิญปัญหาสภาพคล่องและต้องปิดกิจการลง เฟดมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักต่อประเด็นด้านเสถียรภาพตลาดการเงินมากขึ้น ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะลดความแข็งกร้าวลงและปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียงร้อยละ 0.25 ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ ในขณะที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.00 โดยก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวล เคยส่งสัญญาณว่าเฟดอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดมองความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.50 ในการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มี.ค. 2566 แต่หลังจากสถานการณ์การปิดตัวลงของบางธนาคารในสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดมุมมองของตลาดถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคธนาคารสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากเฟดระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจยิ่งก่อให้เกิดความผัวผวนในตลาดการเงิน โดยจะยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลว่าเฟดมองประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่จึงจำเป็นต้องระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนแม้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ คาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินว่าประเด็นธนาคารสหรัฐฯ ที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องและต้องปิดกิจการลงนั้นยังสามารถควบคุมได้ และจะไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบในวงกว้าง เพื่อลดความวิตกกังวลของตลาด อย่างไรก็ดี เนื่องจากเฟดคงต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพตลาดการเงินมากขึ้น ดังนั้น ยังต้องติดตามการส่งสัญญาณถึงเส้นทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดการเงินสหรัฐฯ ตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ออกมา รวมถึงมุมมองของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟดในช่วงที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้ธนาคารสหรัฐฯ 3 แห่งเผชิญปัญหาสภาพคล่องและปิดกิจการลง ซึ่งสะท้อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟดในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลในการกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคภายในสิ้นปีนี้จึงมีมากขึ้น ซึ่งหากเฟดให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพตลาดการเงินมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ หรืออาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน