โดยเฟดมีแนวโน้มที่จะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ท่ามกลางผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงก่อนหน้าและสินเชื่อตึงตัว ขณะที่หากในระยะข้างหน้าทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่างจากที่ประเมิน เฟดก็ยังมีความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าได้

ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ คาดว่าเฟดน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ เพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงผ่านมา โดยแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงและตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่นำมาซึ่งภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit tightening) ประกอบกับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงที่ชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากผลของนโยบายการเงินมักมีความล่าช้า (lag time) จะส่งผลให้เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูเสียงสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาคการเงินในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี คาดว่ามติของเฟดในการประชุมครั้งนี้คงออกมาไม่เป็นเอกฉันท์เนื่องจากคณะกรรมการบางส่วนอาจยังมีมุมมองสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและตัวเลขตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยจากตัวเลขที่ออกมาล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย. 2566 ลดลงมาเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.9%YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 5.0%YoY แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ค่อนข้างมาก อีกทั้งดัชนีราคาพื้นฐานจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core PCE) ที่เฟดให้ความสำคัญนั้นยังคงเร่งสูงขึ้นที่ 4.7%YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 4.6%YoY สะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีความหนืดสูงและมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับลดลงเร็ว ขณะที่ ตัวเลขตลาดแรงงาน แม้ว่าอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาจะเพิ่มสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.4% แต่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรนั้นออกมาสูงกว่าคาดและยังคงเร่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 339,000 รายในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้าทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่างจากที่ประเมิน เฟดก็ยังมีความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ว่าเฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ แต่เฟดยังคงไม่ปิดโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปหากมีความจำเป็น โดยคาดว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณว่าทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกรอบท่ามกลางความเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มผันผวน ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งต่อๆ ไปได้ อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเฟดอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดย ณ ขณะนี้ตลาดส่วนใหญ่ยังไม่มองการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่ประเมินอย่างมีนัยสำคัญ

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน