มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน สายงานวิชาการ เปิดเวทีให้นักศึกษา เรียนรู้ประสบการณ์จริง จัดโครงการ DPU Hackathon  

ประจำปีการศึกษา 2566 ภายใต้แนวคิด Carbon Hero” ครั้งที่ 4  มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการ 18 ทีม โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และวิทยากรพิเศษ “สรัญธรณ์ สุนทรโอฬารรัตน์” ศิษย์เก่า DPU และ CEO กระเป๋าแบรนด์ Ally Bag

มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจจากสิ่งที่ชอบในหัวข้อ “ประสบการณ์ตัวแม่กับธุรกิจตัวโฮ่ง” และ อติยา อาวัชนาการ จากทีม Sustainability Management บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)  ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ในฐานะหัวหน้าโครงการ DPU Hackathon กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า DPU มุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนส่งเสริมให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง

เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์จริง และเป็นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

และการเป็นผู้ประกอบการ โครงการ DPU Hackathon  เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้จากวิทยากรที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง

จากเทรนด์ของโลกรวมถึงประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนไปสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างบัณฑิตให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพ

และสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โจทย์สำหรับโครงการ DPU Hackathon ปี 4 จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Carbon Hero”  โดยนักศึกษาทั้ง 18 ทีมต่างนำเสนอโครงงานที่มีแนวคิดในการช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ การลดปริมาณขยะ หรือ การนำขยะกลับมา Reuse ให้กลายเป็นสินค้าใหม่แทน  

 

รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่หลากหลาย   อาทิ   CARBON GAME ซึ่งจะเป็นเกมที่นอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้วยังทำให้ผู้เล่นได้เข้าใจและตระหนักถึงสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว   

ส่วน FOOD’N WASTE  การ์ดเกม ที่เกิดจากความคิดที่จะให้คนหันมาสนใจและใส่ใจปัญหาเศษขยะจากอาหารเหลือและถูกทิ้งกันมากขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  หรือ  ตู้จำหน่ายลิปสติกรีฟิลอัตโนมัติ ช่วยลดปัญหาขยะ  และ  UNDER SEA BOARD GAME เกมที่จะให้ผู้เล่นได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์น้ำ พร้อมสร้างความตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ฯลฯ

สำหรับผู้ชนะเลิศการประชันไอเดียในโครงการ DPU Hackathon ภายใต้แนวคิด “Carbon Hero”  ปีนี้ คือ ทีม Day Dreamers (Shin Shop) ซึ่งได้เสนอแนวคิดในการนำเสื้อผ้าเก่าหรือเศษผ้ามาทำให้เกิดเป็นสินค้าใหม่ ลดการปล่อยก๊าซตคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ

คุณศิริพร วุฒิกุล CEO and Director: Mind2Market Company Limited (BizzUp) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการนี้ กล่าวว่า  ทีม Day Dreamers ชนะเลิศอันดับ 1 เป็นทีมที่มีความแตกต่างจากทีมอื่น ๆ ในด้านของ Model Business ที่ไม่ใช่แค่การลงไปในภาคสนามเพื่อจะสำรวจตลาดเก็บข้อมูลตัวอย่างจริงจากผู้บริโภคเหมือนทีมอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างความแตกต่างและตรงกับความต้องการของคณะกรรมการ คือ เป็นทีมเดียวที่มีการเปิด Workshop ให้ผู้บริโภคสามารถนำเสื้อผ้าเก่าของตนเองมาสร้างให้เกิดงาน Craft จนเกิดเป็นสินค้าใหม่ได้จริง

นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการหลากหลายไม่ว่าจะเป็นงานปัก การเย็บ การเพ้นท์ การสกรีน สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างงาน Craft ที่หลากหลายรูปแบบ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้จริงในการนำเศษผ้า และเสื้อผ้าเก่าไม่ใช้แล้ว มาสร้างให้เป็นสินค้าใหม่ก่อให้เกิดรายได้จริง แทนการทิ้งให้กลายเป็นขยะเหลือใช้ไป

นางสาวกิตติยา พานิชชา นักศึกษาชั้นปี 3 สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ตัวแทนทีม Day Dreamers กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำเรื่องนี้ มาจาก Pain Point เรื่อง Fast Fashion ของเสื้อผ้าที่มีคนจำนวนมากที่ซื้อเสื้อผ้ามาแล้วบางครั้งก็ใส่แป๊บเดียว สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการสร้างมลพิษ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มาจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมาก โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.7 พันล้านตันต่อปี ส่งผลกระทบต่อโลกมาก ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ

ทีมเราจึงอยากมีส่วนช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการนำขยะที่มาจากเศษผ้า และเสื้อผ้าเก่า มาทำให้เกิดธุรกิจหมุนเวียนด้วยการเปิดเป็นร้าน Shin Shop เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเศษผ้า และเสื้อผ้าเก่า มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นงาน Craft  ชิ้นใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณการทิ้งขยะเหลือใช้ และ ลดการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกิดจากการผลิตและทอผ้า อนาคตก็อยากจะเปิดร้าน Shin Shop ขึ้นมาจริง ๆ  ///

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....