มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ส่งมอบแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้แก่ นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอเปือยน้อย นายสิทธิชัย อินทุประภา รองผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น ณ ปราสาทเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น

สำหรับโครงการ การพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2564-2565 เป็นการดำเนินงานโดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ สถาบันการสอนวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับสนับสนุนงบประมาณโครงการจาก ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์  เพื่อสร้างแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบทพื้นที่จังหวัดของแก่น  และ  เพื่อพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบทพื้นที่จังหวัดของแก่น ในรูปแบบภาพสามมิติ วีดีโอและแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ดร.ฮาวา วงศ์พงษ์คำ  เจ้าของโครงการการพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ คือ ต้องการที่จะทำประโยชน์ต่อชุมชน เนื่องจากตนเองมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม และ ได้เรียนต่อยอดที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ได้รู้ว่าพื้นถิ่นมันมีความสำคัญ   ที่เลือกศึกษาปราสาทขอม เพราะว่าเป็นสิ่งที่คงทน สะท้อนวิธีคิดของคนในสมัยนั้น ประกอบกับ อยากจะให้ชุมชนเห็นว่าก่อนที่จะพังเมื่อ 2000 ปีก่อน สิ่งปลูกสร้างนี้มีลักษณะอย่างไร  เราจึงนำนวัตกรรม เข้ามาบวกกับองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น กรมศิลป์ จากท่านนักวิชาการต่าง ๆ ต่อจากนั้นก็นำไปเปรียบเทียบ เทียบเคียง ปราสาทเปือยน้อย ที่สร้างสมัยศิลปะบาปวน เทียบเคียงกับในยุคสมัยใกล้เคียงกัน เมืองต่ำบ้าง เป็นของพนมรุ้งบ้าง  แล้วจึงเกิดแบบสันนิษฐานนี้ขึ้นมา โดยที่เราก็จะได้เป็น Application เป็นสารคดี โดยการซ้อนของ Metaverse ซ้อนภาพสามมิติเข้าไป ซึ่ง นักท่องเที่ยว ผู้สนใจสามารถชมแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมปราสาทเปือยน้อย พร้อมถ่ายรูปตนเองพร้อมปราสาทจำลองเสมือนได้ โดยการใช้Application สแกนคิวอาร์โค้ด ณ บริเวณนี้ 

ดร.ฮาวา กล่าวอีกว่า ความสนุกของการทำ Project นี้ เป็นความสนุกบวกกับความภาคภูมิใจ เพราะว่า ได้ร่วมงานกับชาวอำเภอเปือยน้อย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก ทั้งผู้นำชุมชน ท่านผู้ว่า ท่านนายอำเภอ ท่านปลัด กลุ่มชาวบ้าน และ กลุ่มเล็กๆที่รักปราสาทเปือยน้อย ที่เขาทำเพจ และการทำงานวิจัย เป็นการนำความรู้ของเราไปทำในสิ่งที่เขาต้องการ   หลังการส่งมอบแล้วจะไม่หยุดแค่นี้ จะพัฒนาเป็นงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่กำลังทำอยู่ เป็นภาพสันนิษฐาน การฉายแสง Scale จริง 1 ต่อ 1 ซึ่งจะทำให้ผู้ชม ได้รู้ว่าของจริงยิ่งใหญ่ขนาดไหน โดยแสดงในเดือนเมษายนนี้ ในงานบุญบวงสรวงของปราสาทเปือยน้อย นั้นปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่งานบวงสรวงที่มีงานแบบภาพสันนิษฐานเป็น Background ข้างหลังซึ่งมันเป็นปีแรกของภาคอีสาน

นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอเปือยน้อย เปิดเผยว่า อำเภอเปือยน้อยโชคดีมีโบราณสถานที่ถือว่าเป็นต้นทุนของพื้นที่ จากที่เรามีของดีของเด่นเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เราจึงคิดต่อยอดว่าทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านของเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือแม้แต่ศิลปวัฒนธรรม  โครงการการพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรม ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ ผมดูแล้วชื่นชม อย่างน้อย สามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับพี่น้องประชาชน ในการที่เข้ามารับรู้ ตัวปราสาท ถ้าสมบูรณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือ เป็นกิจกรรมนึงที่เราจะจัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อที่จะเสริมการพัฒนาชุมชนต่อไป

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....