กรม สบส.สั่งจนท.สอบคลินิกเสริมความงาม หลังทำผู้รับบริการดับระหว่างร้อยไหม

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี หญิงวัย 72 ปี เข้ารับบริการเสริมความงามโดยวิธีร้อยไหม กับคลินิกเสริมความงามย่านวังทองหลาง และเสียชีวิตในคลินิกดังกล่าวว่า กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) และกองกฎหมาย ตรวจสอบคลินิกดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในเขตวังทองหลาง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่ฯพบว่าคลินิกดังกล่าว ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากกรม สบส.  จึงเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพทย์ผู้ให้บริการนั้นจะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการ

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนพิจารณาอย่างรอบด้านก่อนรับบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษาโรคทั่วไปหรือเสริมความงามจะต้องรับบริการจากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ห้ามรับบริการในร้านเสริมสวย, คอนโดมิเนียม หรือเรียกหมอกระเป๋ามาให้บริการถึงที่พัก เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย และชีวิตของผู้รับบริการเป็นอย่างมาก ทั้งจากผู้ให้บริการที่อาจจะเป็นหมอเถื่อน หรือจากสารเสริมความงามที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอาจเกิดการติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาด และหากสารที่ฉีดรั่วไหลเข้าไปในกระแสเลือด หรือผู้รับบริการมีอาการแพ้อย่างรุนแรงก็อาจจะเสียชีวิตได้

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการ สพรศ. กล่าวว่า ก่อนตัดสินใจรับบริการจากสถานพยาบาล ขอให้ประชาชนตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย

1.ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก

2.มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก

3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน

4.มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก ทั้งชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ และเพื่อความมั่นใจให้ตรวจสอบชื่อคลินิกที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส. (www.mrd-hss.moph.go.th)และตรวจสอบชื่อแพทย์ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.thหากไม่พบรายชื่อหรือหลักฐานไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด

หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯให้แจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป                     

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน