เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิด “โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย” พร้อมด้วย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และผู้แทนนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่เป็นคนกลางในการชักชวนหรือชี้ช่องจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ซึ่งถือว่า “คนกลางประกันภัย” เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยและที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางปกครองด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และทางอาญาด้วยการดำเนินคดีฉ้อฉลประกันภัยกับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรการป้องปรามมิให้ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ. จึงริเริ่มแนวทางป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยโดยตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยจัดทำโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย โดยสายกฎหมายและคดี ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (Center of InsurTech Thailand) หรือศูนย์ CIT ของสำนักงาน คปภ. ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยโดยคนกลางประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำ
โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเพื่อคัดกรองบุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในธุรกิจประกันภัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ในการป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัยที่สร้างความเสียหายแก่ภาพรวมของธุรกิจประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการประกันภัยและคนกลางประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชนอีกด้วย
สำหรับแนวทางพิจารณาการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยรูปแบบใหม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตามกฎหมายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย หรือมีประวัติอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดแล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขอรับใบอนุญาตฯ
ในระบบดังกล่าวด้วย ซึ่งก่อนที่บริษัทประกันภัยจะตรวจสอบข้อมูลในระบบก็จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวคือ บริษัทประกันภัยจะต้องได้รับความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ต้องการตรวจสอบ ก่อนที่จะนำเลขบัตรประชาชนของผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ที่ให้ความยินยอมมาขอตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรือการเพิกถอน/พักใช้ใบอนุญาตของตัวแทนหรือนายหน้าในระบบดังกล่าว เมื่อระบบประมวลผลแล้ว ก็จะแสดงผลการตรวจสอบว่าผู้ขอรับใบอนุญาตฯ นั้น มีพฤติกรรมอยู่ในระดับการเฝ้าระวังลำดับใด
โดยในระบบดังกล่าวแบ่งระดับความร้ายแรง ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับหนึ่ง สีแดง กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยอยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุดไม่เกินระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ระดับสอง สีส้ม กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุด เกิน 5 ปีเต็ม นับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือ กรณีบริษัทประกันภัยรายงานว่าเป็นบุคคลมีพฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัย เข้ามายังระบบรายงานการฉ้อฉลประกันภัยของสำนักงาน คปภ.
ทั้งนี้ เป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้ง หรือมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ระดับสาม สีเหลือง กรณีมีบริษัทประกันภัยรายงานว่าตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยนั้น เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เข้ามายังระบบรายงานการฉ้อฉลประกันภัยของสำนักงาน คปภ. หรือมีการร้องเรียนและอยู่ในระหว่างการสอบสวนของสำนักงาน คปภ. และระดับสี่ สีเขียว กรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยไม่มีประวัติด่างพร้อย กล่าวคือ ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต และไม่พบประวัติที่บริษัทประกันภัยรายงานเข้ามาว่าบุคคลนั้น มีพฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัยหรืออาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย
ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยสามารถรับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มสีส้มและสีเหลือง ให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในสังกัดได้ เนื่องจากสำนักงาน คปภ. ไม่ได้บังคับหรือจำกัดสิทธิ เนื่องจากข้อมูลจากระบบดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลประกอบให้บริษัทประกันภัยบริหารความเสี่ยงและพิจารณากลั่นกรองก่อนรับบุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยในสังกัดของบริษัทประกันภัย เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยยับยั้งและป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยจากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่จะเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยในอนาคต และช่วยกำหนดแนวทางการดำเนินการของบริษัทประกันภัยให้อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการจัดการเรื่องความรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน กรณีบริษัทประกันภัยได้พิจารณาตกลงรับตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย หรือมีประวัติอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เข้ามาเป็นตัวแทน หรือนายหน้า
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะทำการพัฒนาต่อยอดระบบดังกล่าวควบคู่ไปด้วย เช่น การเตรียมพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทั้งระบบภายในของสำนักงาน คปภ. และระบบของหน่วยงานภายนอก เช่น ระบบทะเบียนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัย (e-Licensing) ของสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย และระบบจัดการเรื่องร้องเรียนของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ (PPMS) และระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและพิจารณาคัดกรองตัวแทนและนายหน้าประกันภัยก่อนเข้าสู่ธุรกิจประกันภัย
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com