นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ม.มหิดล เตือนในฤดูร้อนให้ระวังการเลือกรับประทานอาหาร ต้องปรุงสุก ใหม่ เลี่ยงอาหารดิบ อุ่นร้อนก่อนรับประทาน ลดเสี่ยงปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค ย้ำเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ แนะไข่ไก่ต้องจัดเก็บในตู้เย็นกันเน่าเสีย

ดร.วนะพร ทองโฉม นักกำหนดอาหารวิชาชีพ งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดมักทำให้เกิดโรคในอาหาร ยิ่งในประเทศไทยฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้ง่าย ฉะนั้นในฤดูร้อนต้องระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหารเป็นพิเศษ

Young man cooking fresh food at home and opening lid of steaming pot.

สำหรับอาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ไข่แมลงวัน รวมถึงสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค หากซื้อมาแล้วยังไม่ได้รับประทานให้นำแช่ในตู้เย็น ก่อนรับประทานอาหารให้สังเกตลักษณะภายนอก หากมีเมือกเยิ้ม มีฟอง มีกลิ่นบูดหรือมีรสชาติเปรี้ยวที่ไม่ได้เกิดจากรสชาติดั้งเดิมของอาหาร เป็นลักษณะของอาหารที่บูดเสียแล้ว ไม่ควรรับประทาน ที่สำคัญต้องอุ่นร้อนทุกครั้งเพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้มั่นใจในความปลอดภัย

 

“อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คืออาหารดิบ อาทิ ลาบก้อย ซอยจุ๊ กุ้งเต้น กุ้งแช่น้ำปลา ยำหอยแครง หอยนางรม รวมถึงอาหารที่ลวกแบบกึ่งสุกกึ่งดิบโดยไม่ได้ปรุงให้สุกที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียสขึ้นไปและนานเพียงพอก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสียได้เช่นกัน” ดร.วนะพร กล่าว

อาหารสด เป็นกลุ่มอาหารที่เน่าเสียได้ง่ายเพราะมีความชื้นค่อนข้างเยอะ กรณีที่ไข่ไก่ในร้านผู้จำหน่ายเกิดการเน่าเสียเป็นน้ำจากอากาศที่ร้อนจัด ผู้บริโภคควรจัดเก็บไข่ไก่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาให้ไข่ไก่มีอายุนานขึ้น เก็บในบล็อกที่เก็บไข่เพื่อกันการกระแทก โดยให้นำด้านแหลมลงด้านป้านขึ้น เพราะด้านป้านจะมีฟองอากาศอยู่ภายในทำให้ไข่แดงไม่แตกเร็ว หากพบไข่ที่มีรอยแตกร้าว ให้คัดแยกออกมาตอกใส่ภาชนะ หากไม่ปรุงประกอบในทันที ให้เก็บไว้ในตู้เย็นก่อน

ทั้งนี้ไข่ที่ซื้อมาจากตลาดสดที่มีคราบเปรอะให้เช็ดทำความสะอาดก่อนนำเข้าแช่ในตู้เย็น แต่ไม่แนะนำให้ล้างเพราะการล้างจะทำให้สารเคลือบตัวไข่ด้านนอกที่รักษาความสดของไข่หายไป

การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ข้อสำคัญที่ผู้บริโภคควรคำนึงคืออุณหภูมิที่วางขาย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่วางอยู่บนน้ำแข็งเพียงนิดหน่อยอาจทำให้อุณหภูมิเย็นไม่เพียงพอ และเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ดังนั้นการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ให้คำนึงถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นสำคัญ โดยต้องต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ระหว่างการเดินทางหากเกิน 2 ชั่วโมง ให้ใส่ในภาชนะที่เก็บความเย็นอย่างกระติกหรือถังน้ำแข็ง เมื่อถึงบ้านแนะนำให้ล้างเนื้อสัตว์และเก็บเข้าตู้เย็นในช่องแช่แข็งเพื่อช่วยในการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ให้คงความสดได้นานยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้เนื้อสัตว์จำนวนมาก ให้เลือกซื้อจากร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตจากกรมปศุสัตว์ รวมถึงเนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ อย่าง ไส้กรอก ลูกชิ้น ให้เลือกจากร้านหรือผลิตภันฑ์ที่มีการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย เมื่อซื้อมาแล้วให้เก็บรักษาในอุณหุมิที่ต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส และไม่ควรซื้อมาสต๊อกไว้เป็นจำนวนมากเพราะมีโอกาสที่จะเน่าเสียได้./

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....