การนอนหลับที่ผ่านมาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง? หากใครที่เคยมีอาการหลับๆ ตื่นๆ นอนหลับยากกว่าคนอื่น หรือโดยเฉพาะคนที่ชอบตื่นนอนกลางดึกเป็นเวลาซ้ำๆ กันทุกคืนหรือเกือบทุกคืน บทความนี้อาจช่วยอธิบายปัญหานี้และบอกถึงผลกระทบจากอาการดังกล่าวได้

ผลกระทบเบื้องต้นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การง่วงหรือหาวตลอดเวลาที่ตื่นขึ้น เหมือนคนนอนไม่พอ ซึ่งดร. Matthew Walker ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้เขียนลงในนิตยสาร BBC Science Focus ว่า “มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าการนอนหลับที่ไม่เพียงพอต่อร่างกายต้องการ (ช่วงหลังฉีดวัคซีน) จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง”

นอกจากนี้ ดร. Matthew ได้อธิบายด้วยว่า จริงๆ แล้วผลกระทบที่เกิดจากอาการเหล่านี้มีมากกว่าที่เราคิด จากผลการศึกษาในสหราชอาณาจักร (UK) ในเดือนเม.ย. 2020 พบว่าประมาณ 36% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ระบุว่า การนอนหลับของพวกเขาถูกรบกวนจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่เป็นแบบนี้ในประเทศอื่นมากขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งมาจากความเครียดและวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ การศึกษาโดยละเอียดของดร. Matthew ยังพูดถึงภาวะการนอนน้อย และการตื่นนอนกลางดึกเป็นเวลาซ้ำๆ ว่าบ่งบอกถึงสภาวะร่างกายบางอย่าง ซึ่งบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จริงแล้วผลกระทบที่บางคนไม่เคยรู้ก็คือ อาการเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณว่าเรากำลังมีภาวะเครียดไม่รู้ตัว และมีแนวโน้มที่จะส่งผลอารมณ์บูดๆ แบบนี้ในระยะยาว โดยอ้างจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน จากการศึกษา 2,100 คน

สิ่งที่น่ากังวลจากการนอนหลับไม่เพียงพอและตื่นนอนกลางดึกเป็นเวลาซ้ำๆ ก็คือ ภาวะโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งข้อมูลจาก Alzheimer’s Disease International (ADI) ระบุชัดว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีพฤติกรรมก่อนหน้านี้คือ นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมที่ชอบตื่นกลางดึกเองในเวลาใกล้เคียงกัน

อย่างผลการศึกษาในกลุ่มผู้ทดสอบอายุระหว่าง 21-55 ปี พบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/คืน มีแนวโน้มสุขภาพอ่อนแอและมีโอกาสเป็นไข้หวัดมากกว่า 2.94 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับโดยเฉลี่ย 8 ชั่วโมงหรือมากกว่า ขณะเดียวกันกระบวนการคิดของสมองของผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง คิดได้ช้ากว่า, คิดซับซ้อนน้อยกว่า และต้องใช้เวลาในการประมวลผลนานกว่าสำหรับโจทย์คณิตศาสตร์ หรือโจทย์ที่เป็นรูปแบบตรรกะ

คำแนะนำที่ง่ายที่สุดก็คือ การนอนหลับให้นานขึ้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มักคิดว่าไม่ต้องนอนเยอะเหมือนเด็กๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว ดร. Matthew แนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรจะนอนเป็นเวลา 7-9 ชั่วโมง/คืน หรือ 8 ชั่วโมงคืนโดยเฉลี่ย และสิ่งที่ต้องทำก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่นอนหลับสบายที่สุด บรรยากาศที่น่านอนที่สุด หรืออย่างน้อยๆ ต้องหาตำแหน่งการนอนที่ทำให้หลับสนิทที่สุด (ส่วนคำแนะนำที่เป็น extra จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ คือ การอาบน้ำอุ่นและการออกกำลังกายเบาๆ ก่อนนอนเพื่อให้หลับสบายขึ้น)

การฟื้นฟูระบบสมองที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับ ซึ่งประโยคเป็นคำแนะนำที่ตรงและจริงมากๆ แถมยังเป็นโซลูชั่นที่ไม่ต้องจ่ายเงินเลยสักบาท รู้อย่างนี้แล้วควรจะหันมาดูแลภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีๆ ในภาวะที่ COVID-19 ยังอยู่กับเราและไม่รู้เลยว่าจะอยู่ด้วยกันแบบนี้อีกนานมั้ย

ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2021/06/sleep-deprivation-wellbeing-insomnia/

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน