เปิดตัวบอร์ดส.นักคณิตศาสตร์ฯใหม่เดิน3พันธกิจป้องประกันฯล้ม!!

สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Society of Actuaries of Thailand : SOAT) ได้แถลงเปิดตัวคณะกรรมการประจำวาระที่ 2560-2562 โดยตำแหน่งนายกสมาคมยังคงเป็นนายพิเชฐ  เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี่)ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชัน จำกัด ซึ่งรับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 โดยคณะกรรมการชุดใหม่ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ว่า สมาคมฯ เป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาคเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้เป็นมืออาชีพ ถึงพร้อมด้วยจรรยาบรรณ เพื่อให้บริการและรองรับการแข่งขันในระดับสากล

พร้อมประกาศพันธกิจไว้ 3 ด้านคือ 1. พัฒนามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ 2. สร้างความเชื่อมั่นและการเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล และ 3. ยกระดับการให้บริการกับสมาชิก

“ธุรกิจประกันเป็นเรื่องของสัญญา ต่างจากการซื้อสินค้าที่จ่ายเงินแล้วได้ของกลับมา แต่การทำประกันภัยได้เพียงกระดาษที่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อถึงกำหนดคืนกลับมาเท่านั้น แถมเป็นการบอกถึงอนาคตล่วงหน้าอีก 10-20 ปี ซึ่งไม่รู้เลยว่าบริษัทประกันนั้นจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ ดังนั้น ธุรกิจประกันจึงต้องอาศัยความเชื่อมั่นจากลูกค้าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นนี้” นายพิเชฐกล่าว และว่า

สมาคมฯ จะเพิ่มคุณค่าให้กับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และเน้นการเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ และทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงวิชาชีพนี้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ประสานงานกับทางสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั่วโลก เช่น IFOA SOA และ CAS ในการจัดทำข้อสอบภาษาไทยแต่มาตรฐานของข้อสอบยังเป็นสากล ที่ทางสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนานาชาติยังรับได้ และทางสมาคมฯ จะคอยประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยที่ได้เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาชีพนี้

ทั้งนี้วิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นวิชาชีพที่จำเป็น และมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัย ซึ่งหากวิชาชีพนี้แข็งแกร่ง ธุรกิจประกันภัยก็จะมีความแข็งแกร่งเช่นกัน สำหรับระดับคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มี 3 ระดับ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ระดับ 1 คือผู้ที่สอบผ่านวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่เทียบเท่าความรู้ระดับปริญญาตรี เช่น คณิตศาสตร์การเงิน สถิติความน่าจะเป็น ทฤษฎีและการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์การเงินต่างๆ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

 

ระดับ 2   ระดับแอสโซซิเอท คือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับ 1 ที่มีประสบการณ์ และสอบผ่านความรู้ที่นำมาประยุกต์ได้จริง เช่น Fundamental of Actuarial Practice หรือ Core Practice (คำนวณเบี้ยปนะกันภัย ความเสี่ยง เงินสำรอง) นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ระดับ 3 ระดับเฟลโล คือผู้ที่มีคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพนี้โดยสมบูรณ์แล้ว

อย่างไรก็ตามหน้าที่ของนักคณิตศาตร์ประกันภัย คือ 1. คำนวณหรือวางระบบให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้เงินคืนตามที่บริษัทสัญญาไว้ (รับรองการตั้งตั้งสำรองคณิตศาสตร์ประกันภัยและบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม) และ 2.มั่นใจว่าเบี้ยประกันที่ลูกค้าจ่ายมา จะไม่ทำให้บริษัทประกันขาดทุน

“นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค บริษัทประกันภัย และคนกลางประกันภัย โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยรวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยสามารถทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงให้กับผู้เอาประกันภัยได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และธุรกิจประกันภัยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์กล่าวว่า ในอนาคต เมื่อ มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS 17)”ประกาศใช้ นักคณิตศาสตร์จะทำงานร่วมกับนักบัญชีมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักบัญชีก็ต้องเข้าใจถึงหลักการในการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องเข้าใจหลักการของนักบัญชีเช่นกัน

 

ส่วนเรื่องการผลักดันสมาคมฯ ไปสู่สภาวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น นายพิเชฐกล่าวว่า มีทิศทางว่าจะเป็นได้ในอนาคต ถ้าคณิตศาสตร์ประกันภัยได้รับการเปิดโอกาสให้ทำงานในธุรกิจอื่น ซึ่งทำให้ต้องการมีกฎหมายรับรองด้วย ที่นอกเหนือจากธุรกิจประกัน ทว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย ทำงานอยู่ในธุรกิจประกันเพียงอย่างเดียว พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ก็มีกฎหมายรับรองเพียงพออยู่ แต่ขณะนี้จะเห็นว่าคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องใช้ในธุรกิจอื่นมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การคำนวณผลประโยชน์พนักงานที่ต้องตั้งสำรอง ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

“ยกตัวอย่างเช่น ทางกฎหมายแรงงานได้เปลี่ยนแปลงจาก 300 วัน เป็น 400 วัน ถ้ากรณีอายุงานครบ 20 ปี ในกรณีคำนวณเงินสำรองเลี้ยงชีพตรงนี้ก็ใช้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณเช่นกัน”

สุดท้ายสมาคมฯ ได้ให้ความเห็นว่าจากสถิติของ A.M. Best ซึ่งได้รวบรวมสาเหตุหลักของการล้มละลายของบริษัทประกันวินาศภัยในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 พบว่า 44% มีสาเหตุมาจากเบี้ยประกันภัยหรือการตั้งเงินสำรองที่ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยและเงินสำรองประกันภัยให้มีความเหมาะสมและเพียงพอกับภาระผูกพันและหนี้สินทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทประกันภัยล้มละลายได้

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน