จากกรณีที่ “ตำรวจสอบสวนกลาง” รวบ “อดีตตัวแทนประกันชีวิต” หลอกขายกรมธรรม์ปลอมให้กับลูกค้า ความเสียหายกว่า 22 ล้าน แม้เจ้าตัวยังปฏิเสธตามข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่าเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่สร้างความตื่นตระหนักให้กับผู้คนในแวดวงการประกันชีวิต กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยต่างหวั่นถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งในด้านภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ กับผู้อยู่ในอาชีพตัวแทนประกันชีวิต

               และอาจจะไม่หยุดแค่เฉพาะผู้ที่อยู่ในอาชีพตัวแทนประกันชีวิตเท่านั้น แต่อาจลามไปถึงตัวแทน นายหน้าประกันภัย ทั้งอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงตัวบริษัทผู้รับประกันชีวิตและประกันวินาศภัยทั้งหมดด้วย

               ตามข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.วรวุฒิ คงรักษา สว.กก.5 บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม “คุณเสฏฐวุฒิฯ” อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 หมายจับ โดยบริเวณสถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี

               สืบเนื่องจากช่วงเดือนมกราคม 2566 บริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ทำประกันจำนวน 9 ราย ซึ่งได้ทำประกันชีวิตผ่านตัวแทนของบริษัทฯ และจ่ายค่าเบี้ยประกันเรื่อยมากว่า 5 ปี แต่เมื่อมีเหตุที่ต้องเคลมประกันกลับไม่สามารถทำได้ บริษัทฯ จึงตรวจสอบสถานะกรมธรรม์

               จากการตรวจสอบ พบว่า เอกสารทั้งหมดถูกทำปลอมขึ้นโดยมีเจตนาให้ผู้ทำประกันทั้ง 9 ราย หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารของบริษัทฯ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 22,330,708.99 บาท บริษัทฯ จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ.

และจากการสอบสวนพบว่า มีผู้ร่วมกระทำความผิด 2 ราย คือ คุณเสฏฐวุฒิฯ (ผู้ต้องหา) และคุณวรรณษาฯ (ถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว) โดยพบว่า มีการปลอมแปลงกรมธรรม์, สำเนาใบรับเงินชั่วคราว,ใบเสร็จรับเงินของบริษัท และหลักฐานการโอนเงินของธนาคารต่างๆ

               ในเวลาต่อมาตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ได้เข้าทำการจับกุมตัว “คุณเสฏฐวุฒิฯ” ได้ที่บริเวณสถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ.เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้การสอบถามปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้นยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

               สำหรับหมาย 1 ใน 3 หมายจับ ได้แก่ หมายจับศาลอาญาที่ 795/2566 ลง 21 มี.ค. 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน

“ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ, ร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม, ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือ บางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยทุจริต ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้น ทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทแต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิมและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ”

จากกรณีที่เกิดขึ้น INNWhy ได้ติดตามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นว่า ผู้ต้องหาดังกล่าวได้ใช้วิธีการส่งงานการรับประกันชีวิตของลูกค้าเป็น “แบบเอกสาร” (กระดาษ) ไม่ได้ส่งผ่านระบบดิจิตอลหรือแอพพลิเคชั่นที่บริษัทจัดให้บริการในปัจจุบัน

แล้วได้ทำการปลอมแปลงใบเสร็จรับเงิน โดยการใช้ “เลขที่ใบเดิม” ไปใช้กับ “ลูกค้ารายใหม่” พร้อมปลอม “ใบโอนเงิน” เข้าบริษัทด้วยการเปลี่ยนจำนวนเงินตัวเลข แบบโอนหลายครั้ง หลังจากนั้นได้มีการออกกรมธรรม์ปลอมให้กับลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อดังกล่าว

โดยใช้ “ปกกรมธรรม์” เป็นของบริษัท แต่เงื่อนไขการรับประกันภัยภายในฉบับเป็นของบริษัทอื่น ซึ่งบริษัทไม่ได้จัดทำแบบประกันภัยดังกล่าวขายให้บริการแก่ลูกค้าแต่อย่างใด

จากความเสียหายที่ “ผู้ต้องหา” ได้รับการกล่าวโทษฐานความผิดไปเป็นมูลค่ากว่า 22 ล้านบาท นั้น มีบางส่วนไม่เกิน 5 ล้านบาท เท่านั้นที่มี “หลักฐานปลอม” เกี่ยวพันกับบริษัท ซึ่งบริษัทได้แสดงความรับผิดชอบกับผู้เอาประกันฯ ตามระเบียบของ “สำนักงาน คปภ.” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้น หลังจากมีการรับประกันออกกรมธรรม์ไปไม่ถึง 15 วันก็มีการใช้สิทธิการขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต (Free look period) ขอคืนเงินเอาประกันที่ทำทั้งหมดไป

อย่างไรก็ตามในมุมวิเคราะห์ของแหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิตอีกรายหนึ่งให้ความเห็นว่า จากการปลอมเอกสารสิทธิ์ขอคืนเงิน Free look period” นั้นนับเป็นความเสียหายของระบบการรับประกันชีวิตของบริษัทอยู่แล้ว เพราะการรับประกันครั้งแรกได้เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ขึ้นไปแล้วส่วนหนึ่ง อย่างเช่น คอมมิชชั่นค่านายหน้า เป็นต้น

ทั้งนี้ในอีกมุมหนึ่ง อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า หากลูกค้าตัวจริง “ไม่ได้” รับเงินคืนจริงก็ถือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยโดยผู้เป็น “คนกลาง” ประกันภัยหรือ “ตัวแทน” แต่ถ้าหากว่าลูกค้าตัวจริง “ได้รับ” เงินคืนจริงขึ้นมาอีก มุมนี้ก็จะกลายเป็น “ขบวนการฉ้อฉล” ที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นลูกค้าสมรู้ร่วมคิดกันขึ้นอีกกรณีหนึ่ง

จากเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นข้างต้นไม่ถือเป็นเคสแรกหรือเคสใหญ่ที่มีการฉ้อฉลทำธุรโกงขายประกันภัยกับประชาชนแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ราวเดือนสองเดือนก่อนหน้านี้ “ตำรวจกองปราบฯ” ก็ได้นำกำลังจับกุม “คุณปัณณวัชญ์ฯ” อายุ 47 ปี ตามหมายจับศาล จ.นครราชสีมาที่ 220/2566 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ข้อหา “ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม” และหมายจับศาลแขวงนนทบุรีที่ 124/2564 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 ข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์” โดยจับกุมตัวได้ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ภูเก็ต

ซึ่ง “คุณปัณณวัชญ์ฯ” คนนี้ตามข่าวระบุว่า เดิมมีอาชีพเป็นนายหน้าขายประกันของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่มีพฤติกรรมปลอมแปลงเอกสารกรมธรรม์และเอกสารต่างๆ เพื่อโกงเงินของบริษัท จนเกิดเป็นความเสียหายกว่า 25 ล้านบาท ทางบริษัทประกันดังกล่าวจึงส่งตัวแทนเข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.จักราช จ.นครราชสีมา กระทั่งมีการออกหมายจับและตามจับกุมตัวได้ในที่สุด

และก็เหมือนกันทุกรายที่เมื่อโดนจับในชั้นการสอบสวน “คุณปัณณวัชญ์ฯ” ก็ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา !!

ในช่วงเดือนสองเดือนนี้!! มีรายงานข่าวการฉ้อฉลธุรโกงประกันภัยเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง แต่ที่ไม่เป็นรายงานข่าว หรือเป็นกรณีที่ตำรวจดำเนินการจับกุมไปโดยไม่ได้มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็อาจจะมีอยู่เหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกกรณีที่เกิดขึ้นในแวดวงการประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยช่วงปีนี้ ก็ต้องมองว่าช่างเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึง “ธุรโกง” ของเหล่า “คนกลาง” ในอุตสาหกรรมประกันภัยไทยที่มีมูลค่ามากกว่าหลายสิบล้านบาท เป็นความเสียหายทั้งลูกค้า บริษัท และอุตสาหกรรมไม่น้อย

และที่สำคัญต้องนับเป็น “ธุรโกง” ที่ท้าทายความร่วมมือของ “เหล่าผู้บริหารบริษัท” กับ “สำนักงาน คปภ.” ที่จะต้องเร่งรีบจัดระบบ “ฐานข้อมูลฉ้อฉล” ให้เสร็จโดยเร็ววัน เพื่อยับยั้งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ให้ลามลุกไปมากกว่านี้ และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความดีงามในอุตสาหกรรมประกันภัยไทยต่อไป.-

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....