เลือกซื้อประกันบำนาญลดหย่อนภาษีแบบไหนดี
เพื่อน ๆ หลายท่านอาจเคยได้ยินว่า ประกันชีวิตใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท โดยประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อน 100,000 บาทแรกนั้นไม่ค่อยมีข้อสงสัยเท่าไหร่
ส่วนประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อนได้เพิ่มเติมอีก 200,000 บาทนั้น หลายท่านยังไม่ค่อยรู้จัก แต่อาจจะผ่านหูผ่านตามาบ้างว่า ประกันที่ใช้ลดหย่อนนั้นเรียกว่า “ประกันแบบบำนาญ”
วันนี้ผมจะมาแนะนำให้เพื่อน ๆ ทราบกันว่า ประกันบำนาญแบบไหนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง
ก่อนอื่น ๆ ต้องทราบก่อนว่าประกันบำนาญ หรือ Annuity Insurance มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ”
โดย “ประกันแบบเงินได้ประจำ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเงินได้ประจำให้กับผู้ทำประกันภายหลังเกษียณ ซึ่งเงินได้ประจำหลังเกษียณแบบนี้ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ เงินบำนาญ
ประกันประเภทนี้มีลักษณะการจ่ายผลประโยชน์คล้ายเงินบำนาญ เราเลยประกันนี้กันเพื่อให้เข้าใจกันง่าย ๆ ว่าประกันแบบบำนาญ
ข้อดีของประกันประเภทนี้คือ ช่วยให้เรามีกระแสเงินสดรับภายหลังเกษียณไปจนถึงวันที่เสียชีวิต และหากเราเสียชีวิตก่อนเกษียณ ทายาทของเราก็ยังได้รับเงินก้อนหนึ่งไว้ใช้อีกด้วย
ความจริงแล้วประกันแบบบำนาญนี้ มีรูปแบบการจ่ายเงินภายหลังเกษียณที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการออกแบบกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิต
แต่วันนี้ผมขอแนะนำประกันแบบบำนาญที่น่าสนใจและมีจำหน่ายในประเทศไทย เอาไว้เป็นแนวทางให้ ได้นำไปใช้ในการพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกทำประกันแบบบำนาญกันนะครับ
1) ประกันบำนาญแบบรับประกันจำนวนปี ประกันบำนาญแบบดั้งเดิมมักจะกำหนดเพียงว่า บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์รายปีให้ผู้เอาประกันตั้งแต่เกษียณจนถึงอายุกี่ปี โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตลงเมื่อใด บริษัทประกันก็จะหยุดจ่าย และทายาทของผู้เอาประกันก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ เลย
ทำให้คนทำประกันแบบบำนาญรู้สึกว่าถ้าตัวเองเสียชีวิตเร็ว การทำประกันแบบนี้ก็จะไม่คุ้ม เพราะได้รับเงินคืนเพียงไม่กี่ปี
บริษัทประกันจึงออกแบบกรมธรรม์แบบรับประกันจำนวนปีขึ้นมา โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้รับประกันตายก่อนปีที่ตกลงกันไว้ บริษัทประกันจะนำเงินผลประโยชน์ของปีที่เหลือที่รับประกันไว้นั้น ไปจ่ายคืนให้กับทายาท
เช่น ประกันแบบบำนาญกำหนดว่าจะจ่ายผลประโยชน์ให้ถึงอายุ 85 ปี โดยรับประกันว่าอย่างน้อยจะต้องได้รับเงินคืนถึงอายุ 70 ปี หมายความว่า ถ้าผู้เอาประกันตายตอนอายุ 65 ปี บริษัทก็จะนำเงินผลประโยชน์ในปีที่อายุ 66 ถึง 70 นั้นไปจ่ายเป็นเงินก้อนให้กับทายาทของผู้เอาประกัน
2) ประกันบำนาญแบบจ่ายผลประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกปี ประกันบำนาญแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายประกันบำนาญแบบดั้งเดิม คือ ไม่มีการการันตีระยะเวลาขั้นต่ำที่จะจ่ายผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกัน
แต่บริษัทประกันมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ว่าในแต่ละปีที่จ่ายเงินผลประโยชน์คืนมานั้น ผู้เอาประกันจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นทุกปี
ประกันบำนาญแบบนี้ก็มีข้อดี คือ ถ้าคิดว่าตัวเราจะมีชีวิตอยู่ยืนยาว เงินผลประโยชน์ที่ได้มาเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น เหมือนกับเป็นการชดเชยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่มีข้อเสียคือ ถ้าเราเสียชีวิตเร็ว ทายาทของเราก็จะไม่ได้รับเงินผลประโยชน์ใด ๆ จากบริษัทประกันเลย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ประกันแบบบำนาญทุกประเภทที่จะสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ เพราะประกันแบบบำนาญที่ใช้ลดหย่อนในส่วน 200,000 บาทหลังนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
1. เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2. ต้องไม่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ในระหว่างปี หรือช่วงที่จ่ายเบี้ยประกัน หรือก่อนกรมธรรม์จะหมดอายุสัญญา
3. ผู้ทำประกันจะได้รับเงินคืนเมื่ออายุ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นรายงวดเท่า ๆ กันอย่างสม่ำเสมอจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น และจะได้รับเงินบำนาญเมื่อชำระเบี้ยประกันครบตามสัญญาแล้วเท่านั้น
4. การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญในช่วงรับบำนาญต้องกำหนดจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปี รายเดือน เป็นต้น
แต่ไม่ต้องกังวลใจในการจำเงื่อนไขของประกันบำนาญืที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ผมมีข้อแนะนำและเทคนิคง่าย ๆ เพียงแค่ดูวงเล็บต่อท้ายแบบประกันบำนาญที่เราเลือกซื้อว่า มีคำว่า “บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้” หรือไม่
เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าประกันบำนาญตัวไหนจะใช้ลดหย่อนภาษีได้ต้องมีวงเล็บว่า “บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้” ต่อท้ายเอาไว้ครับ
หวังว่าวันนี้เพื่อน ๆ น่าจะรู้จักประกันบำนาญกันมากขึ้น และถ้าเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยหรืออยากพูดคุยกับผม ก็สามารถเข้าไปคุยกันที่เฟสบุ๊คแฟนเพจของผมได้ที่ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/ นะครับ.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
คอลัมน์ Infinity Wealth By ดร.พีท พีรภัทร ฝอยทอง CFP® ที่ปรึกษากฎหมายและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล