คู่สมรสได้รับมรดกอย่างไร

ความเดิมตอนที่แล้ว ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องการแบ่งมรดก กรณีไม่มีการทำพินัยกรรม ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดก จะต้องเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น (ย้อนไปอ่านได้ที่ https://www.innwhy.com/wills-legacy-ep1/)

ถ้าทุกท่านยังจำได้ ผมบอกว่า คู่สมรสไม่ได้อยู่ในทายาทโดยธรรม 6 ลำดับนั้น แต่คู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกเช่นกัน

เพียงแต่อาจจะไม่ได้รับมรดกครึ่งหนึ่งแบบที่เราเข้าใจกันมาโดยตลอด

จริง ๆ แล้วการแบ่งมรดกให้กับคู่สมรสตามกฎหมาย ความจริงเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า

คู่สมรสที่มีสิทธิได้รับมรดกนี้ ต้องเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น ไม่นับถึงกรณีอยู่กินกันฉันสามีภรรยา หรือไม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย

เพราะแบบนั้นต่อให้อยู่กินกัน 30 – 40 ปี หากคู่สมรสอีกฝ่ายตายไป เราก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกแต่อย่างใดครับ

เรื่องถัดมาที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด คือ คู่สมรสได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง 

ความจริงแล้วคู่สมรสไม่ได้รับมรดกครึ่งหนึ่งครับ แต่ที่ได้รับทรัพย์สมบัติไปครึ่งหนึ่งนั้นเป็นส่วนของสินสมรส ไม่ใช่มรดกแต่อย่างใด แต่คู่สมรสนอกจากได้สินสมรสไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยังมีสิทธิได้รับมรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย

ตัวอย่างเช่น นายประเสริฐมีทรัพย์สมบัติที่เป็นกองทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการแต่งงานอยู่ 10 ล้าน หากนายประเสริฐตาย ภริยาของนายประเสริฐก็จะได้รับสินสมรสก่อนครึ่งหนึ่ง คือ 5 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาท ภริยาของนายประเสริฐก็มีสิทธิได้รับเป็นมรดกด้วย

แต่ในส่วนนี้ต้องไปแบ่งกับทายาทคนอื่น ๆ ที่เหลือ เช่น หากนายประเสริฐมีลูกอีก 1 คน แบบนี้ก็จะต้องนำเอา 5 ล้านบาทหลังไปแบ่งเป็น 2 ส่วนให้กับ ภริยาและลูกอีกคนละส่วน 

รวมแล้วภริยาก็จะได้รับทรัพย์สมบัติทั้งสิ้น 5 ล้านบาท (สินสมรส) + 2.5 ล้านบาท (มรดก)

หมายความว่าคู่สมรสได้รับสินสมรสไปแล้วครึ่งหนึ่ง คู่สมรสยังมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายมรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย (ดูตามภาพประกอบ)

 ในส่วนของกองมรดกหลังจากที่แบ่งสินทรัพย์ส่วนตัวสินสมรสไปแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดก ดังนี้ครับ

1) กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็น ลูก หรือลูก และพ่อแม่ แบบนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกเท่า ๆ กันกับทายาทคนอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีคู่สมรส มีลูก 3 คน และมีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเจ้ามรดกมีกองมรดกทั้งสิ้น 12 ล้านบาท (หักสินสมรสออกไปแล้ว)

กรณีนี้จะมีผู้ได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม คือ คู่สมรส ลูก 3 คน และ พ่อแม่ รวมทั้งหมด 6 คน แบบนี้ก็จะได้รับมรดกเท่า ๆ กันคนละ 2 ล้านบาท 

2) กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นพ่อแม่ หรือพี่น้องที่พ่อและแม่เดียวกัน แบบนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกครึ่งหนึ่งเลยครับ ส่วนคนที่เหลือก็เอามรดกอีกครึ่งหนึ่งไปแบ่งเท่า ๆ กัน

ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีคู่สมรส และพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีมรดกรวมทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

แบบนี้คู่สมรสก็จะได้รับมรดกก่อนครึ่งหนึ่ง คือ 6 ล้านบาท ส่วนพ่อแม่ก็จะนำมรดกส่วนที่เหลืออีก 6 ล้านบาทไปแบ่งกันคนละครึ่ง ก็จะได้รับกันคนละ 3 ล้านบาท

3) กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้มีสิทธิได้รับมรดกเป็น พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา แบบนี้คู่สมรสก็จะได้รับมรดกก่อน 2 ใน 3 ส่วน ส่วนทายาทที่เหลือก็เอามรดกไปแบ่งเท่า ๆ กัน

ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ ปู่ ย่า ตา และยาย โดยมีมรดกรวมทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

แบบนี้ คู่สมรสก็จะได้รับมรดก 2 ใน 3 ส่วน คือ 8 ล้านบาท ส่วนปู่ ย่า ตา และยาย ก็จะต้องนำมรดกที่เหลืออีก 4 ล้านบาทไปแบ่งกัน ซึ่งจะได้รับคนละ 1 ล้านบาท

4) กรณีที่เจ้ามรดกไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ 1 – 6 เหลืออยู่เลย มีแต่เพียงคู่สมรสเท่านั้น แบบนี้คู่สมรสก็จะได้รับมรดกไปทั้งหมด 100% เลยครับ

หวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการแบ่งมรดกในกรณีที่ไม่มีการทำพินัยกรรมกันเอาไว้ แต่ถ้าจะให้ดี

ในฐานะนักวางแผนการเงิน ผมก็มักจะแนะนำให้ทุกท่านทำพินัยกรรมกันเอาไว้ เพราะปัญหาที่ตามมาภายหลังจะน้อยกว่ามาก

แต่ถ้ากลัวหรือไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มทำพินัยกรรมอย่างไร เดี๋ยวตอนหน้าผมมาแนะนำให้แล้วกันนะครับ สำหรับท่านใดที่อยากสอบถาม หรือพูดคุยกับผม ก็สามารถเข้าไปคุยกันต่อได้ที่เพจ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/ นะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน