ประกันลดหย่อนภาษี 4 ประเภท

หลายคนอาจมองว่า การทำประกันชีวิตเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันที่เป็นประเภทเบี้ยทิ้ง คือ จ่ายไปแล้วหากไม่เกิดเหตุใด ๆ แล้วไม่ได้เงินคืน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแผนการเงินส่วนบุคคล “การวางแผนประกันชีวิต” เป็นอีกหนึ่งการวางแผนสำคัญ เพราะชีวิตของคนเรา มักเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

เช่น วางแผนเก็บเงินเพื่อการเกษียณ 3 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าช่วงอายุ 59 ปี เกิดโชคร้ายได้รับอุบัติเหตุและต้องผ่าตัดใช้เงินจำนวนสูงถึง 1 ล้านบาท ทำให้ต้องนำเงินออมวัยเกษียณที่เก็บไว้ออกมาใช้ก่อน ซึ่งการที่เราเหลือเวลาทำงานอีกเพียง 1 ปี โอกาสที่จะหาเงินเก็บออมเพิ่มเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ก็เป็นไปได้ยาก ทำให้แผนการเกษียณของเราอาจต้องเปลี่ยนไปจากเหตุการณ์นี้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่รัฐบาลมีนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ทำประกันชีวิต เพื่อส่งเสริมการออมในรูปแบบประกันชีวิตกันมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีทั้งต่อตัวผู้ที่ทำประกันเอง และเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่มีระบบประกันมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประชาชน

ในเมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้เราทำประกันชีวิตกันแล้ว เรามาลองดูกันว่าปัจจุบันมีประกันชีวิตแบบไหน อะไรบ้างที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

1. แบบประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันประเภทนี้ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน  100,000  บาท ซึ่งการลดหย่อนภาษีนี้ เฉพาะปีที่เราจ่ายเงินค่าเบี้ยเท่านั้นนะครับ

แต่ผมแนะนำว่า  เวลาเราซื้อประกันประเภทนี้ ให้สังเกตดูในใบเสร็จด้วยว่า ได้ระบุเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ เพราะตัวแทนขายประกันบางคนมักแนะนำให้เราซื้อประกันชีวิตอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งในส่วนที่เพิ่มเติมบางประเภทนั้นไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

รวมถึงแบบ “ประกันควบการลงทุน” ที่นิยมทำกันในตอนนี้อย่าง “Unit Link”  ส่วนของค่าเบี้ยที่นำไปลดหย่อนภาษีได้นั้นจะใช้ “ลดหย่อนภาษี” ได้ก็เฉพาะส่วนของ “ประกันชีวิต” เท่านั้น ไม่รวมถึงส่วนของ “การลงทุน” นะครับ

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตประเภทนี้มีลักษณะที่น่าสนใจ คือ นอกจากความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันปกติแล้ว เมื่อเราจ่ายค่าเบี้ยประกันครบ และมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เราจะได้รับเงินคืนกลับมาในลักษณะที่คล้ายกับเงินบำนาญด้วย

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และสูงสุดไม่เกิน  200,000  บาท และเมื่อนำไปรวมกับเงินที่เราซื้อกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน  500,000  บาท

3. ประกันสุขภาพตนเอง ประกันประเภทนี้เป็นประกันใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลยินยอมให้นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000  บาท และเมื่อนำไปรวมกับประกันชีวิตตามข้อ 1. แล้ว ต้องไม่เกิน  100,000  บาท

โดยประกันสุขภาพที่เข้าเงื่อนไขการนำไป “ลดหย่อนภาษี” ได้ จะต้องมีความคุ้มครองอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

  • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

4. ประกันสุขภาพพ่อแม่ ประกันนี้สำหรับลูกๆ ที่ทำประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยลูกที่ทำประกันสุขภาพนี้ให้พ่อแม่จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000  บาท

แลพหากพ่อแม่มีลูกหลายคน แล้วลูกๆ ทุกคนอยากช่วยกันทำประกันนี้ให้พ่อแม่ก็สามารถทำได้โดยลูก ๆ สามารถหารแบ่งค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีของตนเองได้

หากเพื่อนๆ สนใจเกี่ยวกับการทำประกันเพื่อลดหย่อนภาษี ก็สามารถเข้าไปพูดคุยสอบถามผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน