พินัยกรรม ทำได้เอง
เวลาผมพูดถึงเรื่องพินัยกรรม หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าไกลตัว อาจจะคิดว่า ยังอีกนานกว่าฉันจะตาย มาพูดถึงเรื่องพินัยกรรมอะไรตอนนี้
แต่ชีวิตคนเราก็ไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับ
รุ่นพี่ผมสองคนอายุ 30 กลาง ๆ สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ ปรากฏว่าเมื่อสองปีที่แล้ว รุ่นพี่ทั้งสองคนนี้จากไปในเวลาไล่เลี่ยกัน คนหนึ่งจากไปขณะวิ่งออกกำลังกายอยู่ในฟิตเนส อีกคนจากไปขณะวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะ
เห็นไหมครับว่าคนเรา บทจะไปก็ไปกันได้ง่าย ๆ ไม่ได้ร่ำลากันก็บ่อยไป ดังนั้นหากเรามีชีวิตอยู่ ควรรักกัน และดีต่อกันไว้มาก ๆ นะครับ
กลับมาพูดถึงเรื่องการทำพินัยกรรมกันต่อ วันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการทำพินัยกรรมแบบง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องง้อนักกฎหมายหรือทนายความ
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะทำพินัยกรรมมีอะไรบ้าง
ข้อแรก ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ข้อสอง ต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนวิกลจริตที่มีอาการจริตวิกลขณะทำพินัยกรรม
ถ้ามีคุณสมบัติครบสองข้อนี้แล้วเราก็สามารถทำพินัยกรรมเองได้ทันทีครับ
โดยพินัยกรรมที่สามารถทำได้เองที่บ้านนั้นจะมีอยู่ด้วยกันสองประเภท คือ พินัยกรรมแบบธรรมดา หรือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
มาเริ่มที่พินัยกรรมแบบธรรมดากันก่อน
พินัยกรรมแบบธรรมดา นี้ เขียนด้วยมือ พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือให้คนอื่นเขียนให้ก็ได้ แต่เราต้องลงลายมือชื่อ พร้อมมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อเราในขณะทำพินัยกรรมฉบับนั้น
เน้นว่าต้องมีพยานสองคน ลงชื่อรับรองเราพร้อมกันนะครับ
เพราะเคยมีคดีที่ศาลตัดสินว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะ เนื่องจากตอนที่ทำตอนแรกมีพยานรับรองคนเดียว แล้วหลังจากนั้นค่อยเอาพินัยกรรมนั้นไปให้พยานอีกคนรับรองภายหลัง ซึ่งศาลมองว่าทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด พินัยกรรมฉบับนั้นจึงเป็นโมฆะครับ
ส่วนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ แล้วลงลายมือชื่อของตนเองเอาไว้
พินัยกรรมแบบเขียนเองนี้ เน้นย้ำว่าต้องเขียนด้วยลายมือตนเองนะครับ จะพิมพ์เองแบบนี้ไม่นับ ซึ่งพินัยกรรมแบบเขียนเองนี้แตกต่างจากพินัยกรรมแบบธรรมดาตรงที่ เราไม่ต้องหาพยานสองคนมารับรองการทำพินัยกรรมของเรา
หากเราเขียนเอง ลงลายมือชื่อเองเพียงคนเดียว แบบนี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี พินัยกรรมนี้ก็มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายแล้วครับ
เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าเราจะทำพินัยกรรมแบบไหนดี ก็มาต่อกันที่ข้อความหลัก ๆ ที่ต้องมีในพินัยกรรมกันบ้างว่าต้องมีอะไรบ้าง
1) วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม มีเอาไว้เผื่อกรณีที่มีพินัยกรรมหลายฉบับ เราจะได้รู้ว่าพินัยกรรมฉบับไหนมีผลบังคับใช้ครับ
2) มีข้อความแสดงเจตนาว่าเราจะแบ่งทรัพย์สิน หรือจัดการอะไรหลังจากที่เราตายไปแล้ว เพราะ พินัยกรรมจะมีผลหลังจากที่เราตายไปแล้ว ถ้าเราไปเขียนสั่งให้จัดการทรัพย์สินตั้งแต่ตอนที่มีชีวิตอยู่ แบบนี้จะไม่ใช่พินัยกรรม
ตัวอย่างข้อความเช่น หากข้าพเจ้าตายลง ขอให้แบ่งทรัพย์สินของข้าพเจ้าดังนี้
3) ระบุว่าจะให้ทรัพย์สินแก่ทายาทคนใด และได้รับคนละเท่าไหร่ โดยเราอาจจะระบุเป็นสัดส่วนก็ได้ เช่น ให้ลูกครึ่งหนึ่ง ภริยาอีกร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือให้แบ่งให้กับพี่น้องเท่า ๆ กัน
หรือถ้าเรารู้ว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เราก็สามารถระบุชัดเจนไปเลยว่าชิ้นไหนให้ใครบ้าง เช่น บ้านยกให้ลูก ที่ดินที่จังหวัดเชียงใหม่ยกให้ภริยา เป็นต้น
ที่เหลือก็จะเป็นส่วนประกอบให้พินัยกรรมมีความครบถ้วน เช่น ชื่อจริง นามสกุลจริง เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ ข้อความที่ระบุว่าขณะทำพินัยกรรมนี้เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ เป็นต้น
แต่มีข้อควรระวัง คือ หากเราต้องการยกทรัพย์สมบัติให้ใคร เราห้ามให้บุคคลนั้นมาเป็นผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมให้เรานะครับ
เช่น เราต้องการจะเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้ลูกของเรา แบบนี้เราห้ามข้อให้ลูกเราลงชื่อเป็นผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมนะครับ เพราะคนที่ลงชื่อเป็นผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรม จะหมดสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมฉบับนั้นครับ
เห็นไหมครับว่าพินัยกรรม ทำได้เองแบบง่าย ๆ ไม่อยากเลย แต่ถ้าใครมีมรดกเยอะมาก และอาจจะมีความซับซ้อนในการแบ่งมรดก แบบนี้ผมก็ยังแนะนำให้จ้างนักกฎหมายหรือทนายความมาช่วยจัดทำพินัยกรรมให้อยู่ดีนะครับ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง
สำหรับท่านใดที่อยากสอบถาม หรือพูดคุยกับผม ก็สามารถเข้าไปคุยกันต่อได้ที่เพจ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/ นะครับ
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com