ดร.สมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการ และสายงานตัวแทน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับการทำงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นผลงานที่น่าพอใจจากช่องทางตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งสามารถผลิตผลงานได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยในนี้มีเป้าหมายผลิตเบี้ยใหม่เพิ่มเป็น 1,900 ล้านบาท จากปีก่อนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 1,800 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์แบบกรมธรรม์ที่น่าสนใจในปีนี้ บริษัทได้ออกประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลงค์ Unit Link) ชื่อ โตเกียว บียอนด์ (TOKIO Beyond) ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย สำหรับเบี้ยประกันภัยหลักเพื่อความคุ้มครอง ทำให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์สามารถนำเงินส่วนของเบี้ยประกันภัยที่เหลือไปลงทุนได้มากขึ้นกว่า 90%  มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับหลังจากเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

และบริษัทยังคงนำเสนอขายประกันสุขภาพแบบสัญญาเพิ่มเติมโตเกียว กู๊ด เฮลท์ (TOKIO GOOD HEALTH) ซึ่งเป็นประกันสุขภาพที่ดีที่อยู่ หลังจากยกเลิกการประกันสุขภาพเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีไปแล้ว แต่ยังให้ความคุ้มครองต่อเนื่องสำหรับกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่ต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา และการยกเลิกประกันสุขภาพเด็กไปเมื่อต้นปีนั้นไม่ทำให้เกิดกระทบต่อยอดขายในรอบ 6 เดือนของปีนี้มากนัก ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ผลิตผลงานที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“6 เดือนแรกของปีนี้ ก็ถือว่าพอๆ กับปีที่ผ่านมา แต่ 6 เดือนแรกของปีนี้เราไม่ขายประกันสุขภาพเด็ก ตัวเลขไม่ได้ตกลงมามากนัก เป็นตัวเลขที่ยังโอเคอยู่ และมาจากเคสที่ส่งผลดีกับบริษัท มองว่าน่าจะดีกว่าปีที่แล้วซึ่งคิดว่าสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้นตามด้วย”

นอกจากนี้ ดร.สมโพชน์ ยังกล่าวถึงการบริการประกันสุขภาพหลังการขายให้กับลูกค้าทุกคนของบริษัทว่า ยังคงให้บริการแฟกซ์เคลมในเวลาที่รวดเร็ว และยังคงสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับลูกค้าสำหรับโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันอย่างตรงไปตรงมาและมีความเป็นธรรมในการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท แต่มีเพียงบางโรงพยาบาลที่บริษัทได้มีการยกเลิกระบบแฟกซ์เคลมในช่วง 3 เดือน ไตรมาส 3 ของปีนี้

ด้วยที่ผ่านมาได้มีการหารือเจรจากับโรงพยาบาลคู่สัญญาการให้บริการค่ารักษาพยาบาลออนไลน์หรือแฟกซ์เคลมแล้ว  แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรโรงพยาบาลดังกล่าวยังคงคิดค่ารักษาพยาบาลและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากบริษัทในอัตราที่สูงกว่าตลาด ทำให้บริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรมจากความร่วมในเชิงธุรกิจกับโรงพยาบาลดังกล่าว

“โรงพยาบาลนี้ เราได้ยังปรับการรับแฟกซ์เคลมโดยให้ลูกค้าเข้าใช้บริการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลนี้ได้ตามปกติ เพียงบริษัทจะไม่มีการรับแฟกซ์เคลมค่ารักษาพยาบาลในทัน โดยให้ลูกค้าสามารถสำรองเงินจ่ายก่อนแล้วนำใบเสร็จมาดำเนินการเคลมสินไหมกับบริษัทต่อในช่วง 3 เดือนนี้”

บริษัทยืนยันว่าลูกค้าทุกคนที่ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบางแห่งที่บริษัทได้ยกเลิกระบบแฟกซ์เคลมในช่วงยังคงสามารถใช้บริการได้ตามปกติ แต่ระหว่างนี้จะยังไม่สามารถใช้บริการแฟกซ์เคลมได้ในทันที โดยให้ลูกค้าจ่ายสำรองไปก่อนแล้วนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาดำเนินการเบิกเคลมสินไหมทดแทนได้ภายหลัง ทั้งนี้เพื่อให้ทางโรงพยาบาลคิดทบทวนการคิดค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปตามค่าใช้จ่ายปกติ ไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับราคาค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลอื่น

ดร.สมโพชน์ ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่ายการเป็นคู่สัญญษบริการค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่กล่าวถึงนี้ว่า มีระยะเวลาให้ลูกค้าแอดมิทนานกว่าโรงพยาบาล หากเทียบอาการและโรคเดียวกัน โดยโรงพยาบาลอื่นนอน 2 วัน แต่ถ้าโรงพยาบาลนี้ให้คนไข้นอน 3 วันเป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ลูกค้าผู้เอาประกันฯ จะไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่นับเป็นการทำธุรกิจที่เอาเปรียบคู่ค้าอย่างบริษัทประกันภัยอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีบริษัทประกันชีวิตบางแห่งได้ประกาศ “งดรับแฟกซ์เคลม” จากโรงพยาบาลมาแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับความไม่ยุติธรรมในการคิดค่าเคลมสินไหมประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลคู่สัญญานั่นเอง

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน