ธุรกรรมแบบไหนต้องรายงานต่อกรมสรรพากร

เหมือนช่วงนี้กรมสรรพากรจะมีเรื่องต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนค่อนข้างมาก ล่าสุดมีข่าวว่ากรมสรรพากรจะสั่งให้ธนาคารรายงานการทำธุรกรรมของเราทั้งหมดไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ทำเอาหลายคนตกอกตกใจกลัวกรมสรรพากรจะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปตรวจสอบรายได้แล้วตามเก็บภาษีย้อนหลัง

เมื่อเพื่อน มีความสงสัย ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะมาอธิบายให้เข้าใจกันนะครับ เพราะผมคาดว่ากรมสรรพากรจะเริ่มเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมที่เข้าตามเกณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 นี้เป็นต้นไป

อันดับแรก เราต้องเขาใจก่อนว่าไม่ใช่การทำธุรกรรมทั้งหมดที่จะต้องรายงานให้กรมสรรพากร แต่ธุรกรรมที่จะต้องรายงานนี้เรียกว่าธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ

กรมสรรพากรกำหนดว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ หมายถึง

1) ธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินรวมทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมธุรกรรมขาเข้าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

2) ธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินรวมทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป

หมายความว่าสรรพากรจะดูเฉพาะธุรกรรมขารับเงินเท่านั้น ไม่ได้ดูขาโอนเงินออกไปแต่อย่างใด เพราะกรมสรรพากรมองว่าคนธรรมดาทั่ว ไป ไม่น่าจะมีเงินโอนเข้าบ่อย

แต่คนที่มีคนโอนเงินเข้าบ่อย อาจจะเป็นผู้ที่มีอาชีพทำมาค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ขายของออนไลน์ที่อาจจะมีลูกค้าโอนเงินมาให้

ส่วนคนที่ชอบซื้อของออนไลน์แล้วโอนเงินให้ร้านค้าบ่อย อันนี้ไม่ต้องห่วงเลยนะครับ เพราะธุรกรรมโอนเงินออก กรมสรรพากรไม่สนใจข้อมูลส่วนนี้แต่อย่างใด

อันดับถัดมา คือ แล้วใครเป็นผู้มีหน้าที่ส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กรมสรรพากรล่ะ

ข้อนี้สบายมาก พวกเราคนธรรมดาไม่เกี่ยวเลยครับ เพราะคนที่จะต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กรมสรรพากร คือ ตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการ e-wallet เป็นต้น

เรื่องสุดท้ายที่หลายคนอยากรู้คือ เมื่อกรมสรรพากรได้ข้อมูลเหล่านี้ไปแล้ว จะเอาไปทำอะไรบ้าง และจะเรียกเจ้าของบัญชีทุกคนที่ถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรไปพบหรือไม่

เรื่องนี้กรมสรรพากรได้ออกมายืนยันแล้วว่า จะไม่เรียกทุกคนมาพบแต่อย่างใด แต่สรรพากรจะเอาข้อมูลที่ได้มาเหล่านั้นไปทำการวิเคราะห์ก่อน เพื่อจัดกลุ่มเสี่ยง แต่ไม่ได้บอกว่ากลุ่มเสี่ยงนี้หมายถึงเสี่ยงอะไร แต่ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงกลุ่มเสี่ยงว่าจะเลี่ยงภาษีแน่ เลยครับ

ซึ่งผมมองว่ามาตรการเรื่องนี้ของกรมสรรพากรเป็นเรื่องที่ดีและควรทำนะครับ เพราะหน้าที่การเสียภาษีเป็นของทุกคน  หากเราไม่เสียภาษีแล้ว รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ในการบริหารประเทศ

หากเรามีรายได้ ก็ควรเสียภาษีให้ถูกต้อง จะคิดว่าเราเสียภาษีไปแล้วแต่รัฐบาลดีแต่ทุจริตคอรัปชั่น เราเลยไม่อยากเสียภาษีไม่ได้หรอกครับ เพราะถ้าทุกคนคิดแบบนี้กันหมด แล้วไม่มีใครเสียภาษีเลย ประเทศชาติของเราคงอยู่ไม่ได้ แต่เราก็สามารถตรวจสอบรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นได้ แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองเหล่านั้นได้ครับ

ถ้าเพื่อน มีความคิดเห็นประการใด ก็เข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ที่เพจ https://www.facebook.com/drpeerapat.f ของผมนะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....