แม้ว่าคนที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากติดเชื้อโคโรน่าไวรัสหรอโควิด-19 (COVID-19 )  แต่ข่าวดีคือ ผู้ป่วยไทรอยด์ ไม่ได้มีความเสี่ยงมากไปกว่าคนธรรมดาทั่วไป และไม่ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นหากติดเชื้อโควิด-19

นพ.กฤตธี การดำริห์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ อธิบายให้ฟังว่า ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงาน และการเจริญเติบโตของร่างกาย  หากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แบบทำงานมากไป (ไฮเปอร์ไทรอยด์) ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด  แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไป (ไฮโปไทรอยด์) อาการจะเป็นตรงข้ามคือ อ้วน ตัวบวม ง่วง เป็นตะคริว  นอกจากนี้ ผู้ป่วยไทรอยด์ชนิดอื่นยังมีอาการผิดปกติได้เช่น คอโตหรือคอพอก มีการอักเสบ หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์

“ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคในกลุ่มออโต้อิมมูน คือภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเพี้ยนไปจากเดิม แทนที่จะปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค กลับโจมตีร่างกายของเราแทน  แต่ในผู้ที่ไทรอยด์เป็นพิษ ฮออร์โมนควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานจะทำงานผิดปกติ แต่ภูมิของร่างกายไม่ได้ตกลงไป จึงไม่ทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และไม่ทำให้อาการรุนแรงมากกว่าปกติหากได้รับเชื้อ” นพ.กฤตธีร์อธิบาย

อย่างไรก็ดี ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์อยู่ ควรต้องดูแลตัวเองให้ดี รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ควบคุมอาการได้สม่ำเสมอ หากไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องอาการอาจแย่ลง เช่น ใจสั่นมากขึ้น เหนื่อยง่าย หรือในบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ในระหว่างที่โควิด-19 ระบาดและประชาชนได้รับการขอร้องให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อ   ผู้ป่วยไทรอยด์ที่มีอาการคงที่อาจจะขอเลื่อนนัดแพทย์ได้ถ้ายังมียาเหลือ หรือลองคุยกับโรงพยาบาลว่าขอให้จัดส่งยาให้ได้ไหม  หรือญาติอาจมารับยาแทนได้  สำหรับโรงพยาบาลเทพธารินทร์นอกจากจะจัดส่งยาให้ได้แล้ว ยังกำลังเพิ่มทางเลือกใหม่ คือ การปรึกษาแพทย์ในระบบออนไลน์หรือ Telemedicine เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลแต่ยังสามารถได้รับการดูแลและคำปรึกษาจากแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง

คนที่ควรรีบมาพบแพทย์หรือไม่ควรเลื่อนนัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มรักษา เพิ่งกลืนแร่ เพิ่งผ่าตัด เพราะอาจต้องมีการตรวจเลือด มีการปรับยา ติดตามแผลผ่าตัด หรือกำลังอยู่ในระยะที่มีการปรับยา หรือถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น คอโตขึ้น ใจเต้นเร็วและแรงเหนื่อยมากขึ้น  เสียงแหบ  หรือกลืนลำบาก หรืออีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านไทรอยด์และมีอาการข้างเคียงจากยา คือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีไข้ เจ็บคอ ซึ่งเป็นอาการคล้ายกับอาการของการติดเชื้อ COVID-19  อาการข้างเคียงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะ 2 เดือนแรกที่ได้รับยาใหม่ๆ แต่มีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากคือน้อยกว่า 1% ที่จะมีอาการเหล่านี้  แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเละรับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ป่วยไทยรอยด์เป็นพิษที่อยู่ในระยะโรคสงบ  อาจพบปัญหาอื่นในระหว่างที่โควิด-19 กำลังระบาด คือ ความเครียด ซึ่งส่งผลให้โรคกำเริบ มีกลับอาการผิดปกติขึ้นมาใหม่ หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น  น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ใจสั่นมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และปรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล นพ.กฤตธีร์ย้ำว่าแม้ผู้ป่วยไทรอยด์จะมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ไม่มากไปกว่าคนอื่น แต่ควรป้องกันตัวเอง ทั้งใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หรือ social distancing และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงจะดีที่สุด

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน