ลดหย่อนภาษี พร้อมได้กองทุนเกษียณ

คนเราแม้จะเกิดมาในครอบครัวที่ยากดีมีจน แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ในโชคชะตาก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างแน่นอน

แม้จะไม่ได้ร่ำรวยมากมายแบบบิล เกตส์ แต่เราก็สามารถตั้งเป้าหมายให้สามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ต้องทิ้งภาระหนี้สินไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานของเราจริงไหมครับ

มีข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า คนไทยเกือบครึ่งเชื่อว่าตัวเองจะไม่มีเงินใช้เพียงพอภายหลังเกษียณ

ซึ่งรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาได้รับรู้ถึงปัญหานี้ จึงได้ออกนโยบายทางภาษีมาสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยเกิดการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้น

 

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะออมที่ไหนแล้วเอาไปหักลดหย่อนภาษีได้นะครับ เพราะเงินออมเพื่อการเกษียณที่จะนำไปลดย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นการลงทุนหรือออมเงินตามที่กรมสรรพากรกำหนดเอาไว้เท่านั้น ซึ่งได้แก่

(1) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับผู้ที่มีเงินได้ทุกคนสามารถซื้อกองทุน RMF  เพื่อใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี 1 ล้านบาทต่อปี เราก็สามารถซื้อ RMF ได้สูงสุดแค่ 1,000,000 x 15% = 150,000 บาทเท่านั้น

(2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. หรือ ครูโรงเรียนเอกชนสามารถนำเงินที่จ่ายไปลดหย่อนได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

เช่น เราเป็นข้าราชการและสมัครเป็นสมาชิก กบข. แล้วจ่ายเงินสะสมไว้ 600,000 บาท แบบนี้เราจะนำไปใช้สิทธิลดหย่อนได้เพียงแค่ 500,000 บาทเท่านั้น

 (3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สำหรับพนักงานของบริษัทเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี เช่น เราเป็นพนักงานบริษัทได้รับเงินเดือน 50,000 บาท เราก็จะสามารถหักเงินเดือนไปซื้อ PVD เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด  50,000 บาท x 12 เดือน X 15% = 90,000 บาทเท่านั้น

(4) ประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับข้อ 1) – 3) แล้วต้องไปเกิน 500,000 บาทต่อปี

เช่น เรามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีรวม 1.5 ล้านบาท เราก็จะซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด

1,500,000 x 15% = 225,000 บาท แต่ตามเงื่อนไขแล้วเราสามารถนำไปลดหย่อนได้เพียง 200,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากเราไม่ได้มีการทำประกันชีวิตแบบลดหย่อนภาษีไว้ เราก็จะสามารถนำส่วนเงิน 25,000  บาทนี้ไปใช้ลดหย่อนได้ด้วยครับ

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อน (1) – (4) นั้น เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วเราจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียงแค่ 500,000 บาทต่อปีเท่านั้นนะครับ

ถ้าอ่านแล้วยังงง ๆ ลองดูภาพที่สรุปค่าลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างกองทุนเกษียณด้านล่างนี้เลยครับ

รวม (1) + (2) + (3) + (4) สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

 

 

เอาไว้ตอนหน้าผมจะมาเจาะลึกเงื่อนไขการออมใน RMF ให้ฟังกันต่อว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะลดหย่อนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด

หรือถ้าเพื่อน ๆ อยากพูดคุยหรือสอบถามเพิ่มเติมกับผม ก็เข้าไปพูดคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/ นะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน