สมาคม AEN เปิดแล้วสนง.ในไทยสร้างความสุขท่องเที่ยวอาเซียน

 

เปิดตัวสมาคมการค้าการท่องเที่ยวเครือข่ายเชิงนิเวศเอเชีย (เออีเอ็น) สาขาประเทศไทย ขณะที่เวทีอภิปรายในหัวข้อ”แนวโน้มของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของโลกและความท้าทายในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของเอเชีย” ทุกฝ่ายเห็นว่าถึงเวลาต้องร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมของเอเชีย ไม่ใช่แค่โหมโปรโมทสร้างตัวเลขนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว พร้อมสร้างมาตรฐานอีโคทัวริซึ่มในไทย

วันที่ 19 มกราคม 2561 มีการเปิดตัว สมาคมการค้าการท่องเที่ยวเครือข่ายเชิงนิเวศเอเชีย  หรือ Association of Asia Ecotourism Network (AEN)  สาขาประเทศไทย ในงานมีการอภิปรายหัวข้อ”แนวโน้มของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของโลกและความท้าทายในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของเอเชีย” โดยดร.จิราภรณ์ พรมมะหา ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ,นายธเนศวร์ เพ็ชรสุวรรณ รองผู้ว่าฝ่ายสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ,นายแรนดี้ เดอแบนด์ ซีอีโอ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Council (GSTC) และนายมาซารุ ทากายาม่า ประธานสมาคมท่องเที่ยวเครือข่ายเชิงนิเวศแห่งเอเชีย

 

นายแรนดี้ เดอแบนด์ ซีอีโอ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Council (GSTC) กล่าวว่า เป็นความท้าทายของเอเชีย กับการที่ทุกประเทศต่างโหมโปรโมทดึงนักท่องเที่ยว แต่หลายประเทศลืมเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ต่อไปนี้ต้องคำนึงว่าไม่ใช่แค่การโปรโมทให้คนมาเที่ยว แต่ต้องลงทุนการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความสุขให้ผู้คนในประเทศและของโลกไปด้วย

 

นายมาซารุ ทากายามา นายกสมาคม AEN กล่าวว่า  ได้ร่วมกับกรรมการเครือข่ายในไทยเปิดเออีเอ็น สาขาประเทศไทย  หวังดันเมืองไทยสู่อีกหนึ่งศูนย์กลางหรือฮับแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของโลก โดยกรรมการเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีนางสุภาภรณ์ ปราชญ์อำไพ เป็นอุปนายก  ดร.พิมพ์รำไพ พันธุ์วิชาติกุล เลขาธิการ นางสุวดี ปาจรียางกูร เหรัญญิก นายนิพัฒธ์พงษ์ ชวนชื่น เหรัญญิก คนที่สอง        นางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประชาสัมพันธ์ นางสายชลี วรรณพฤกษ์ ปฎิคม  นางดวงกมล จันสุริยวงศ์ กรรมการ นางสาวสุรีพร แซ่ว่อง กรรมการ ซึ่งการเปิดตัวสมาคม AEN ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีวัตถุประสงค์หลักคือ นำความรู้และประสบการณ์ของสมาชิกที่มาจากประเทศอาเซียนซึ่งมีไม่น้อยกว่า 20 ปีมาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน  โดยตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทุกคนเริ่มต้นฝึกฝนฝีมือ ทำงานกันอย่างหนักหน่วงในการก่อตั้งสมาคม AEN

ซึ่งปัจจุบันในเอเชียมีสมาชิกที่เน้นการท่องเที่ยวแบบอีโคทัวริซึ่มเพื่อความยั่งยืนกว่า 2,000 คน  วันนี้สมาคมเรียกว่ามีความพร้อมแล้วที่จะกำหนดให้มีการประชุมประจำปีทุกเดือนมิถุนายนของทุกปี และตั้งเป็นสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยซึ่งถือเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้ทางสมาคมได้หารือร่วมกันจะมุ่งมั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เข้าสู่มาตรฐานอีโคทัวริซึ่ม โดยให้ความสำคัญการโปรโมทการท่องเที่ยวอีโคทัวริซึ่มผ่านกิจกรรมในโครงการต่างๆของแต่ละประเทศในอาเซียนตลอดทั้งปี อาทิ ไต้หวัน  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฯลฯ

 

พร้อมกันนี้สมาคม AEN เปิดกว้างพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาล องค์กรต่างๆ บริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ฯลฯที่สนใจร่วมเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีเป้าหมายปลายทางคือ ความสุขของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวและผู้อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวมีความสุขในการให้การต้อนรับเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้และอยู่อย่างยั่งยืน  โดยเชื่อมั่นว่า ความรู้และประสบการณ์ของสมาชิก จะสามารถเป็นแหล่งความรู้ให้ได้ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนแล้วนำสิ่งที่ดีไปช่วยผู้อื่นให้มีความสุขต่อไป

ดร.จิราภรณ์ พรมมะหา ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายสนับสนุนไทยสู่จุดหมายสีเขียวหรือกรีน เดสติเนชั่น โดยหวังที่จะเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้นในประเทศ การลดภาวะโลกร้อนและสนับสนุนกระบวนการทำงานของชาวบ้านหรือชุมชนไปสู่กาพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยเฉพาะการยกระดับทั้ง 3 ด้านคือกรีนโฮเท็ลสแตนดาร์ด กรีนเรสเตอรองท์ และกรีนคอมมูนิตี้ ซึ่งในการประชุมเอทีเอฟที่กำลังจะมีขึ้นก็จะมีการมอบรางวัลในสาขาต่างๆเหล่านี้ด้วย

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า อพท.มีเป้าหมายเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความสุขและการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งชุมชนถือเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวซึ่งต้องมีการดูแลใส่ใจจริงจัง ในปี 2026 ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวถึง 50-70 ล้านคน ถือเป็นความท้าทายต่อการรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว จะทำให้ชุมชนมีความสุขควบคู่กับการดูแลพื้นที่อย่างไร

นายธเนศวร์ เพ็ชรสุวรรณ รองผู้ว่าฝ่ายสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า ท่ามกลางการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย ต้องใส่ใจว่ารายได้จะเข้าไปถึงชุมชนอย่างไร ปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่ได้วัดความสำเร็จจากจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ต้องการดูคุณค่าว่าการท่องเที่ยวส่งมอบให้แก่ท้องถิ่น รอยยิ้ม ความสุข ของผู้คนอย่างไร ต้องสร้างสมดุลระหว่างแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น นักท่องเที่ยวไปด้วยกัน

สำหรับการเปิดตัวสมาคม AEN  นี้ โดยมีเป้าหมายเนื่องจากปัจจุบันเอเชียเป็นแหล่งกำเนิดจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในขณะที่มีการรับรู้ และมีความชื่นชมผู้ประกอบการชั้นนำในวงการ รวมถึงมีความพยายามที่จะยกระดับผู้ประกอบการระดับล่างๆให้สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพื่อการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เพื่อขจัดความยากจน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ให้การศึกษาแก่เยาวชนรุ่นใหม่ ส่งผ่านภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมา กระตุ้นให้เกิดพลังทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น สร้างรอยยิ้มให้ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

เออีเอ็น จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของประสบการณ์และโอกาสในการทำงานร่วมกันของสมาชิกในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น ให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ สนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการศึกษาออนไลน์ และสร้างโอกาสที่องค์กรทั้งใหญ่และเล็กในเอเชียจะทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน

ในส่วนพันธกิจองค์กร คือการประสานการแลกเปลี่ยนความรู้ การปรึกษาหารือด้านการตลาด การพัฒนาทางธุรกิจของผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของเออีเอ็นได้แก่ ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการท่องเที่ยว หน่วยงานบริการ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร  และสถาบันทางการศึกษา

ขณะที่แผนกลยุทธ์คือการสร้างโอกาสใหม่ๆให้ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเข้าเป็นเครือข่าย การจัดหาและให้การศึกษาเรียนรู้แก่ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของเออีเอ็นโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อโอกาสในการเข้าร่วมการฝึกอบรมและเข้าถึงข้อมูลทางการตลาดที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเน้นความสำคัญของการยกระดับสู่มาตรฐานสากล

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน