วันก่อน “คุณป้อง-สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมสนทนากับ ผู้บริหารท่านอื่นๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น Clubhouse ห้องแชท CEO Talk หัวข้อ : “ภาวะผู้นำในยุคดิจิตอล” ดำเนินรายการโดย “คุณกฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.เอไอเอ (ประเทศไทย)

ฟังช่วงตอนที่ “คุณสาระ” เล่าเรื่องของเขาแล้ว อดไม่ได้ที่จะนำมาเผยแพร่เป็น “ทริค CEO” ร่วมบันทึก “สาระของสาระ” ในวันประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ ทันทีที่เริ่มฟัง แล้วเริ่มจับความได้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งเกิดขึ้นช่วงปี 2540 ครั้งนั้นนับเป็นโอกาสแรกเริ่มของใครหลายๆ คน และหนึ่งในนั้นก็คือ “คุณสาระ ล่ำซำ” นั่นเอง

โดย “คุณสาระ” ค่อยๆ หยิบจิ๊กซอว์เรื่องราวความเป็น “ผู้นำ” ของเขามาต่อภาพให้เห็นทีละตัวๆ ผ่านการเล่าประสบการณ์ตั้งแต่ก้าวแรกมาจนถึงวันนี้ของเขาที่ร่วมแชร์ใน Clubhouse ที่สนทนาร่วมกันยาวนานกว่าชั่วโมง เขาเริ่มกล่าวถึงการก้าวขึ้นเป็นผู้นำทีมบริหาร “เมืองไทยประกันชีวิต” ของตนเองในสมัยนั้นด้วยคำถามว่า ทำไมต้องเป็น “สาระ ล่ำซำ”

คำตอบก็คือเพราะ ความเป็น แฟมิลี่ บิสซินเนส (Family Business : ธุรกิจครอบครัว) โดยหลักแล้วคนมักคิดว่า ของตายอยู่แล้ว แต่ต้องบอกว่า เป็นความโชคดีมากกว่า โชคดีอันที่ 1 คือ ความเป็น แฟมิลี่ เมมเบอร์ (Family Member : สมาชิกในครอบครัว) เพราะการเป็น แฟมิลี่ เมมเบอร์ ได้ถูกบ่มเพาะมา อีกมุมหนึ่งมี ความเกรงใจ ในความเป็น แฟมิลี่ เมมเบอร์ เพราะฉะนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะสอนทางลัดให้

“ที่นี่เรียนลัดสบายมาก ถูกส่งไปเทรนในทุกฝ่าย ไม่ต้องอ่านหนังสือเรื่องของประกัน แต่ฟังจากประสบการณ์ของทุกคนมาตลอดเวลา”

ความโชคดีอีกอย่างหนึ่ง ในยุคนั้นคือ ประกันชีวิตเป็นของยี้ ไม่มีใครเลือก อันนี้เป็น Fact เลย เพราะทุกคนอยากเป็น วาณิชธนกิจ (Investment banking) ทำให้มีความได้เปรียบ และช่วงที่เข้ามานั้น คนส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นที่มีอายุมากกว่า ทำให้ถูกมองว่าเป็นเด็ก และก็มีความรู้สึกว่าเอ็นดูหรือการช่วยสอนกันขึ้นมา แต่แน่นอนในอีกมุมหนึ่งความเป็นผู้ใหญ่ก็มาครอบหลายๆ อย่างด้วย

ส่วนความโชคดีอันที่ 3 คือ ความเป็น แฟมิลี่ บิสซินเนส มีประเด็น ระหว่างเจนเนอเรชั่นลูกกับเจนเนอเรชั่นพ่อ ช่วงนั้นคุณพ่อ (คุณโพธิพงษ์ ล่ำซำ) ต้องไปรับภาระกิจที่อื่น ทำให้แทบจะไม่ได้มายุ่งกับธุรกิจประกันชีวิต อันนี้ก็ต้องขอบคุณมาก ทำให้มีอิสระที่จะทำอะไร มี Passion ที่อยากจะบิ้วท์บริษัทที่มาจากการจัดอันดับที่ไกลมากประมาณอันดับ 8 ในวันนั้นที่มี 25 บริษัท ปัจจุบันมีอยู่ 22 บริษัท

เขาย้ำว่า ยังจำในวันนั้นได้ที่ทำให้มี Passion และไม่มีใครเข้ามาปิดในเรื่องของไอเดีย ทำให้ได้ลองทำอะไรที่แตกต่างได้ ทำให้รู้สึกว่า อยากหลุดจากกรอบของความเป็น Traditional ความน่าเบื่อของประกันภัย เพราะหลักๆ ของคนที่มาจาก แฟมิลี่ บิสซินเนส จะเจอสิ่งนี้ ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก เสมอมาตลอด

คุณสาระ กล่าวว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีความรู้สึกว่า ความเป็น traditional อย่างเดียวมันไปไม่ได้ ต้องปรับอะไรให้เร็วและทำที่ไม่ใช่เป็นหลักการ ท็อป ดาวน์ เหมือนแต่เดิม แต่ก็สามารถที่จะเป็นทั้ง 2 ข้างได้ คือ ฟังคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่รู้การตลาด รู้อะไรของทัพหน้ามากกว่า

ถ้าให้เปรียบเทียบความเป็น Leadership ในยุคที่เป็นผู้นำองค์กร ช่วงแรก ๆ ว่า สมัยนั้นคิดแบบนี้ ต้องสร้างความแตกต่างแล้วทุบ (จัดการ) ลงไปเลย และไปได้เลย แต่พอถึงจุดหนึ่ง เจนเนอเรชั่นใหม่ บอกว่าไม่ใช่ มันตีบตันมาก กลายเป็นว่า ต้องทำด้วยกันเป็น two way communication กับคนที่อยู่ด้วยกัน

คนที่อยู่ในทัพหน้าบอกเป็นอย่างนี้เราควรจะปรับตัวอย่างนี้ แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิมหรืออะไรก็ตาม แต่วิธีการที่ไปได้ ต้องเปลี่ยนไป ต้องคล่องตัวพอ ในโลกของวันนี้เป็นความท้าทายต้องทำให้ออกมาได้ และโดยเฉพาะองค์กรที่มีอายุ มีไซต์ใหญ่ หลักการของการเป็นของ sailo metranlity (กลาสีเรือ) มันมีอยู่ ทำอย่างไรที่จะทำให้ได้เร็วมากกว่า วันนี้ competitive adventage ( ความได้เปรียบทางการแข่งขัน) จริงๆ คือ ตอบโจทย์ได้เร็ว และสามารถทำให้เกิดเป็น มรรค เป็นผลได้ อันนี้ถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่มาจาก ความเป็น traditional กับโลกใหม่

อยากขยายความว่า Sailo บางทีมาจากเรื่อง ความมีหมวก มีชั้น ทำให้เราสื่อสารกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราลงทุนไปจะเห็นเลยว่า จริงๆ แล้วออกมาช้ามาก หรือไม่ได้ออกมาเลย ที่ออกมาเป็นรูปธรรม พูดโดยตรงเลยว่า เรามักปลอบใจตัวเราเองว่า ไม่เป็นไร มันต้องทำ ยังไงก็ต้องทำเพราะโลกถูก push ให้ต้องทำแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะออกมาเมื่อไหร่ ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่กับองค์กรของผมอย่างเดียวนะ ผมว่าหลายๆ องค์กร ก็เป็น ซึ่งขึ้นอยู่กับ leader แล้วว่าจะทำยังไงที่จะทำออกมาให้ได้

คุณสาระ กล่าวอีกว่า ในยุคใหม่ทุกอย่างไปเร็วมาก ความคิดเดิมๆ บางเรื่องใช้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ผู้บริหารและผู้นำยุคดิจิตอลควรมี คือ 1.เป็นผู้ฟังและเป็นผู้เรียนที่ดี และนำมาใช้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ว่า เป็น ซีอีโอแล้วคอยบอกอย่างเดียว 2.ต้องเป็นคนที่สามารถสื่อสารที่ไม่ใช่แนวดิ่ง แต่สามารถเป็นคู่ขนานได้ การสื่อสารสามารถให้คนเห็นภาพกว้างเหมือนที่เราเห็นทั้งหมดคือภาพขององค์กร ไม่ใช่ภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่มองว่า หมวกเป็นซีอีโอ ควรมองว่า ทำอย่างไรจะช่วยนำทิศของเรือลำนี้และจะขับเคลื่อนอย่างไรให้กับทุกคนได้

“ในยุคหนึ่งเรามักพูด Decentralized กระจายอำนาจ กับ centralized รวมศูนย์ และเราจะคิดว่า การเป็นผู้นำ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง เราสั่งลงไปกระจายลงไปคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในโลกที่ไดนามิกจริงๆ หรือที่แตกต่างมากๆ เรามองไม่เห็นภาพเลย ถ้าเท้าเราไม่อยู่ที่พื้นด้วยกันกับทีมงานของเรา เราจะไม่มีวันที่เราจะทำได้”

ผมรู้สึกว่า Decentralized กระจายอำนาจ กับ centralized รวมศูนย์ ในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องผิดในองค์กรหนึ่งสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนของเรามีความเข้าใจเหมือนเราขนาดไหน ตรงไหนที่เรารู้สึกปล่อยได้เราปล่อย ถ้าตรงไหนที่เรารู้สึกว่าเราต้องลงไปแตะ ลงไปทำก็ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ และสุดท้ายของความเป็นผู้นำคือ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจด้วย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน