ศูนย์วิจัยกสิกร เผย 1 เดือน ไวรัสโคโรน่า ฉุดเศรษฐกิจจีนดิ่งกว่า 3 แสนล้านหยวนคาด 3 เดือนหดตัวลงร้อยละ 5

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 Novel Coronavirus (2019-nCoV) ในประเทศจีน โดยเฉพาะมณฑลหูเป่ยว์ ยังคงส่อเค้าความรุนแรงต่อเนื่อง จากสถิติล่าสุดของทางการจีนในเช้าวันที่ 30 ม.ค. 2563 ระบุถึงจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในจีนที่ได้รับการยืนยันแล้วกว่า 7,700 ราย ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) ปี 2546 โดยจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่ได้รับการยืนยันแล้วในจีนยังคงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ มาตรการสูงสุดของทางการจีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการระงับการสัญจรเข้าออกจากเมือง และการคมนาคมขนส่งภายในเมือง ครอบคลุม 18 เมืองภายในมณฑลหูเป่ยว์ การระงับการดำเนินธุรกิจและจัดการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจีนทั้งในและต่างประเทศ การสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองอื่นๆ ของจีนที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ กำแพงเมืองจีน เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ รวมถึงการขยายระยะเวลาช่วงวันหยุดตรุษจีนออกไปอีก 3 วันจากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 2563 เพื่อชะลอการเดินทางของผู้คน

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ต่อเศรษฐกิจจีนเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 1 เดือน อาจสูงถึง 3 แสนล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP จีนทั้งปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5-5.9 โดยมีผลกระทบหลักๆ ผ่านทางภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว

โดยส่วนใหญ่เป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน (1 สัปดาห์) ราว 2.15 แสนล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลค่าเงินที่หมุนเวียนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคในปี 2562

ทั้งนี้ ภาคการค้าปลีกนับว่าเป็นธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คิดเป็นมูลค่าของผลกระทบราว 1.3 แสนล้านหยวน หรือร้อยละ 4 ของมูลค่าการค้าปลีกเฉลี่ยในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2562 โดยเป็นผลกระทบในส่วนของช่องทางค้าปลีกออฟไลน์ เนื่องจากชาวจีนหลีกเลี่ยงการออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน อีกทั้ง การบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี แรงหนุนจากการค้าปลีกออนไลน์ที่จะกลายมาเป็นช่องทางการจับจ่ายใช้สอยหลักในช่วงวิกฤตนี้ ผนวกกับ ความต้องการบริโภคสินค้าจำเป็นและสินค้าประเภทเวชภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งมีส่วนผลักดันให้ระดับราคาสินค้าปรับสูงขึ้น จะช่วยหักล้างผลกระทบทางลบต่อภาคค้าปลีกได้ส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ภาคการค้าปลีกของจีนอาจไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนัก

รองลงมาได้แก่ ภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดการเดินทางลงอย่างมีนัยสำคัญ

Photo by Chen Fuping/Xinhua

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาคบริการการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมในส่วนของโรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวน่าจะได้รับผลกระทบราว 9 หมื่นล้านหยวน หรือลดลงประมาณร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับมีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจีนที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ กำแพงเมืองจีน เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศน่าจะลดลงถึงราวร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ ภาคขนส่ง (การเดินทางระหว่างเมืองและภายในเมือง) คาดว่าจะได้รับผลกระทบราว 8 หมื่นล้านหยวน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางการจีนมีมาตรการการระงับการสัญจรเข้าออกจากเมือง และการคมนาคมขนส่งภายในเมืองในมณฑลหูเป่ยว์ รวมถึงการระงับการดำเนินธุรกิจและจัดการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์

มองไปข้างหน้า สถานการณ์การแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ทั้งในจีนเองและนอกประเทศจีน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีตัวแปรหลักที่ต้องจับตาอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่

– ระยะเวลาและความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการระบาดอยู่ในช่วงต้นฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลที่มักมีการแพร่กระจายของโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ความน่าจะเป็นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังมีอยู่สูงไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน

นอกจากนี้ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของทางการจีนที่เข้มข้นขั้นสูง อาจไม่สามารถบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม อาทิ ความไม่พอใจของผู้คนในเมืองที่ถูกกักกันอาจทวีความรุนแรงขึ้น กิจกรรมในภาคส่วนอื่นของสังคมอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นอย่าง ภาคการศึกษา ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยาวนานเกิน 3 เดือน โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 จะลงไปต่ำกว่าร้อยละ 5.0 ก็คงจะมีมากขึ้นตามลำดับ

– มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงที่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคเพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้ง ความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่จำกัด หลังจากที่ปี 2562 ทางการจีนขาดดุลงบประมาณในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราวร้อยละ 5 ของ GDP ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงการระบาดของ SARS ในจีนปี 2546 สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อตัวเลข GDP ของจีนอยู่ที่เพียงราวร้อยละ 2.1 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคอยประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะมีการปรับปรุงตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หากมีพัฒนาการใหม่ของระดับความรุนแรง ขอบเขตและความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Corona virus (n-CoV) ในระยะข้างหน้า

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....