นายชนะพล มหาวงษ์  ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยถึงสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนฯว่า  ขณะนี้กองทุนฯ มีเงินสำหรับจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย กรณีป่วยเป็นโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ได้ถึงปลายปี 2565 นี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ฉะนั้น การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ (บอร์ด) ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทางกองทุนฯได้เตรียมเสนอขอที่ประชุมพิจารณาปรับเพิ่มเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยส่งเข้ากองทุนฯ จากเดิม 0.25% คิดเป็นเงินประมาณ 600 กว่าล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 0.5% ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้เดิม แล้วจะทำให้กองทุนฯมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ต่อไป เพื่อให้ผลทันในวันที่ 1 มกราคม 2566 

“เดิมการเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยเข้ากองทุนฯ 0.25% หรือครึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดที่ 0.5% นั้น เป็นสถานการณ์ปกติยังไม่เกิดเหตุการณ์ใดขึ้น แต่เมื่อมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจากการปิดกิจการของบริษัทประกันวินาศภัยเป็นจำนวนมากเข้าใจว่าเอกชนน่าจะเห็นใจประชาชน” นายชนะพลกล่าว

ล่าสุด จากการรวบรวมข้อมูลของเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยที่ยื่นคำขอมายังกองทุนประกันวินาศภัย รวมประมาณ  65,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวนี้ได้พิจารณาแล้วมีเกิดจาก

1.เจ้าหนี้บางส่วนยื่นคำขอซ้ำซ้อนกัน ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก 

2.เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอมา ทั้งแบบนอนโควิด และโควิด เช่น เจ้าหนี้นอนโควิด มียื่นคำขอแบบเต็มจำนวนเอาไว้ก่อน ยกตัวอย่าง ซื้อเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ราคา 20,000 บาทต่อปี แต่เมื่อคำนวณวันเวลาที่คุ้มครองในรอบ 1 ปีแล้วเหลือเงินคืนประมาณหลักพันบาท แต่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอแบบเต็มจำนวนที่ 20,000 บาทไว้ก่อน ซึ่งมีจำนวนมาก

เจ้าหนี้โควิด เช่น ซื้อประกันโควิดคุ้มครอง 100,000 บาท  ประกันอื่นๆ 100,000 บาท แต่ยื่นคำขอมา 200,000 บาท ในความเป็นจริงแล้วมีสิทธิ์แค่ 100,000 บาท มีเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้หากตรวจสอบคัดกรองข้อมูลเรียบร้อยแล้วคาดว่า หนี้ของเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท ไม่ถึง 60,000 ล้านบาท

“ส่วนความจำเป็นการขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐมองสถานะของกองทุนฯแล้วน่าจะได้ไม่มากประมาณ 20,000 ล้านบาท ก็ถือว่ามากแล้ว ส่วนสินทรัพย์ของ 4 บริษัทที่ปิดกิจการรมี หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โดย บมจ.เอเซียประกันภัย 1950 และบมจ.เดอะวันประกันภัย มีเหลืออาคารสำนักงาน 7 ชั้นของเดอะวันที่ขณะนี้กองทุนฯ ใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการอยู่ มีมูลค่าประมาณหลัก 100 ล้านบาท” นายชนะพลกล่าว และว่า

ส่วนบมจ.ไทยประกันภัยและบมจ.อาคเนย์ประกันภัยไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่เลย บางสาขาที่ไปตรวจมีคอมพิวเตอร์เหลืออยู่ 5 เครื่องตีเป็นราคาซาก คิดเป็นเงินตัวละ 1 บาท รวม 5 บาท สำนักงานสาขาที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะตึกแถว 1-2 แห่ง นอกนั้นเป็นสำนักงานเช่า

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน