หลังจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในคำสั่ง  เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)  มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ทันที  จากปัญหาฐานะการเงินไม่มั่นคง เงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด  มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน สภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือจ่ายสินไหมล่าช้า  และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างอยู่เป็นจำนวนมากนั้น

หลายคนที่เป็นลูกค้า “เอเชียประกันภัย” และถือกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เนื่องจาก คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยผู้เอาประกันภัย (คปภ.) ได้แต่งตั้ง “กองทุนประกันวินาศภัย” ให้เป็น “ผู้ชำระบัญชี” หรือ จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับ “ผู้เอาประกัน” นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564   เพียงแต่ว่า “ผู้เอาประกันฯ” อาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการยื่นเรื่องขอรับเงินคืน  

ด้วยว่า บทบาทหน้าที่ของ “กองทุนประกันวินาศภัย” ในยุคนี้ หากเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคมีบริษัทประกันวินาศภัยบางแห่งประสบปัญหาไม่สามารถบริหารจัดการในระบบประกันภัยได้ ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และนำไปสู่การถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือ “สั่งปิดกิจการ” ขึ้นมาดังเช่น “เอเชียประกันภัย” แล้วกองทุนฯ จะช่วยอะไรผู้เอาประกันภัย ได้อย่างไร

มาดูกันก่อนเลยว่า กองทุนประกันวินาศภัย หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “กปว.” นั้นเป็นใครมาจากไหน แล้วทำไมต้องมาช่วยเหลือ “ผู้เอาประกันภัย” อย่างเราๆ หลัง “บริษัทประกันวินาศภัย” ถูก “สั่งปิดกิจการ”

กองทุนประกันวินาศภัย เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มาตรา 79 ของ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ  มีทำหน้าที่ คุ้มครอง ผู้มีสิทธิได้รับการชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เช่น ผู้เอาประกันภัย (ผู้ซื้อประกัน) ผู้รับประโยชน์ หรือผู้ได้รับความเสียหายที่มีสิทธิเรียกร้องจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทประกันภัยถูกสั่งปิดกิจการนั่นเอง 

ดังนั้น ถ้ามีบริษัทประกันวินาศภัยปิดขึ้นมา ผู้ซื้อประกัน และผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องจากการเอาประกันภัยอย่างเราๆ ก็สามารถไป เรียกร้องสินไหม หรือขอเงินคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยได้เลย  แต่ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัย จะให้ความคุ้มครองดูแลผู้เอาประกันภัย และผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องจากการเอาประกันภัย ตามกฎหมายรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท!!  

เพียงแต่ “ลูกค้าเอเชียประกันภัย” ทุกท่านจะต้องรอ กองทุนประกันวินาศภัย เตรียมการดำเนินงานตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนี้

1.ทำการจดทะเบียนเลิกกิจการ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนทราบว่า บริษัทประกันวินาศภัยนั้น ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกสั่งปิด

2.กองทุนประกันวินาศภัย จะส่งจดหมาย ให้ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ของ “เอเชียประกันภัย” รับทราบภายใน 30 วัน ตามรายชื่อที่ปรากฎในข้อมูลของบริษัท “เอเชียประกันภัย”  

3.กองทุนฯจะประกาศให้บรรดาเจ้าหนี้ หรือ “ลูกค้าเอเชียประกันภัย” ได้ทราบว่า กองทุนฯจะกำหนดวันใดให้มา ยื่นคำทวงหนี้ ซึ่งมีระยะเวลาการยื่นภายใน 60 วัน

4.หลังสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำทวงหนี้  กองทุนฯ ก็จะเร่ง พิจารณา “คำทวงหนี้ของเจ้าหนี้”  แต่ละรายที่มายื่นกับ กองทุนฯโดยเร็ว  ว่าเจ้าหนี้หรือ  “ลูกค้าเอเชียประกันภัย”จะได้รับเงินคืนจำนวนเท่าใด

5.หลังจากพิจารณา “คำทวงหนี้ของเจ้าหนี้”  แต่ละรายที่มายื่นกับ กองทุนฯ แล้วว่ามีความถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว และผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยเรียบร้อยแล้ว   ทางกองทุนฯ จะแจ้งให้ ลูกหนี้ หรือ “ลูกค้าเอเชียประกันภัย” ทราบทางไปรษณีย์ ตามที่อยู่ที่ท่านได้แจ้งไว้กับกองทุนฯ

จะเห็นว่าเมื่อ “เอเชียประกันภัย” ถูกสั่งปิดไป  “กองทุนประกันวินาศภัย” ในฐานะที่เป็น “ผู้ชำระบัญชี” จะมีระยะเวลาขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย  ก่อนที่จะถึงขั้นตอนจ่าย “เงินค่าสินไหมทดแทน” ให้กับ “ผู้เอาประกัน” !!! อย่างน้อย 120 วัน นับจากวันที่  “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” มีคำสั่งลงนาม “เพิกถอนใบอนุญาต” หรือ “สั่งปิด”  “เอเชียประกันภัย” ตามกฎหมาย

ฉะนั้น!!  “ผู้เอาประกันภัยทุกประเภท” อย่างน้อยก็เบาใจได้ว่า การ“เพิกถอนใบอนุญาต” หรือ “สั่งปิด”  “เอเชียประกันภัย” ตามกฎหมาย แต่ “ลูกค้าเอเชียประกันภัยตามสัญญา” ยังได้รับความคุ้มครอง  เพราะในระบบประกันภัยของประเทศไทยเรามี “กองทุนประกันวินาศภัย” รองรับอยู่ 

ด้วยความปรารถนาดีจากกองทุนประกันวินาศภัย “อุ่นใจได้เพราะมีเราอยู่” สวัสดี!!.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน