นายแพทย์ศุภกิจ  ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจ  RT-PCR มีผลตรวจประชาชนปัจจุบันแล้วกว่า 20 ล้านราย ให้กับกองทุนฯสามารถตรวจสอบยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จริง คาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่และช่วยให้ประชาชนผู้ติดเชื้อให้ได้รับเงินเยียวยาได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่นำออกจากระบบ Co-Lab2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วยความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนประกันวินาศภัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประชาชนทำประกันภัยโควิดเจอ-จ่าย-จบ เป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย รวม 4 บริษัท ประมาณ 7 แสนกว่าราย เป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท

เพื่อเป็นการเร่งเยียวยาจ่ายเงินให้แก่ประชาชนให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม กองทุนฯ จึงร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ในการประสานข้อมูลผลตรวจ RT-PCR ผ่านระบบสารสนเทศ ระหว่างสองหน่วยงานขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้การประสานความร่วมมือของสองหน่วยงานดังกล่าวจะช่วยให้ขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่กองทุนฯ พิจารณาเอกสารเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ ของ 4 บริษัทที่ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนฯ ได้รวดเร็วขึ้น เพราะการพิจารณาจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยกรณีป่วยเป็นโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ ต้องมีแนบเอกสารหลักฐาน สำคัญ 5 อย่าง ประกอบด้วย

1. กรมธรรม์ประกันภัย

2. ผลการตรวจ RT-PCR (ตัวจริง)

3. ใบรับรองแพทย์ (ตัวจริง)

4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

5. สำเนาหน้าสมุดเงินฝากธนาคาร

ดังนั้นเมื่อมีการเชื่อมโยงข้อมูลผลตรวจ RT-PCR กับกรมวิทยศาสตร์การแพทย์แล้ว จะเป็นการลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารผลตรวจ RT-PCR ของกองทุนฯ จากกรณีที่เจ้าหนี้ฯ ไม่มีเอกสารผลตรวจ RT-PCR หรือบางคนไม่มีเอกสารตัวจริง หรือส่งสำเนาให้กองทุนฯ ซึ่งอาจมีกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีส่งผลการตรวจปลอมมา

“เราจึงขอความร่วมมือไปยังกรมวิทย์ฯ เพื่อตรวจสอบผลตรวจ RT-PCR ซึ่งหากพบข้อมูลตรงกันก็ยืนยันได้ว่า เจ้าหนี้ท่านนั้น เป็นผู้ป่วยจริง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ยื่นคำทวงหนี้ให้ได้รับการพิจารณารวดเร็วขึ้น  โดยเจ้าหนี้ที่ไม่มีเอกสารผลตรวจ RT-PCR หากกองทุนฯ ตรวจสอบพบข้อมูลจากกรมวิทย์ฯ กองทุนฯ ก็ไม่จำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มจากตัวเจ้าหนี้อีก” นายชนะพลกล่าว

สำหรับเจ้าหนี้ฯ ที่ได้ยื่นคำทวงหนี้ไว้กับกองทุนประกันวินาศภัย ทั้ง 4 บริษัทข้างต้น สามารถตรวจสอบสถานะคำทวงหนี้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://rps-sev.gif.or.th/Login โดยเข้าที่หัวข้อค้นหา เลือกชื่อบริษัท ระบุเลขประจำตัวประชาชน ใส่รหัสความปลอดภัย (Capcha) ที่ปรากฏแล้วกดปุ่ม ค้นหา ระบบจะแสดงข้อมูลสถานะล่าสุดของคำทวงหนี้ขึ้นให้ทราบ

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน