มรดก คืออะไร?

วันนี้ตอนแรกผมตั้งใจจะอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการทำพินัยกรรม ปรากฎว่ามีท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ส่งมาถามที่เพจส่วนตัวของผมว่า เงินประกันชีวิตนั้นเป็นมรดกด้วยหรือไม่ แล้วระหว่างทายาทตามกฎหมายกับผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ใครมีสิทธิดีกว่าในเงินประกันชีวิต

ผมเลยพึ่งนึกได้ว่าผมลืมอธิบายคำว่า “มรดก” ตามกฎหมายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเสียก่อนว่ามรดกนั้นหมายถึงอะไรบ้าง ผมจึงขอลัดคิวมาอธิบายความหมายของคำว่า “มรดก” ให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจกันก่อน แล้วค่อยแนะนำเกี่ยวกับการเขียนพินัยกรรมในครั้งถัดไปแทนนะครับ

คำว่า “มรดก” นั้น บัญญัติอยู่ในประมวลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ว่า

“ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

ดังนั้น สิ่งที่เป็น “มรดก” ได้แก่

1) ทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์เพลง สิทธิบัตร ก็สามารถตกเป็นมรดกของผู้ตายได้

2) สิทธิ หมายถึง สิทธิต่าง ๆ ของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิต เช่น สิทธิของผู้เช่าซื้อ สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน สิทธิของเจ้าหนี้เงินกู้ยืม เป็นต้น

3) หน้าที่และความรับผิด หมายถึง “หนี้” ที่ “เจ้ามรดก”แ ได้สร้างขึ้นก่อนเสียชีวิต เช่น หนี้เงินกู้ยืม หนี้ตามสัญญาค้ำประกัน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทายาทก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนจะได้รับ

เช่น เจ้ามรดกมีทรัพย์สินก่อนเสียชีวิต 5 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวม 10 ล้านบาท แบบนี้ทายาทของเจ้ามรดกก็มีสิทธิที่จะได้ทรัพย์สิน 5 ล้านบาท แต่ก็ต้องรับหนี้สินไปด้วย 5 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องรับหนี้สินส่วนที่เกินแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าสิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่โดยสภาพหรือโดยกฎหมายแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ก็จะไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท เช่น ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน ใบอนุญาตใบขับขี่ สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส เป็นต้น

รวมถึงทรัพย์สินและสิทธิหน้าที่ที่ได้มาภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็ถือว่าไม่เป็นมรดกด้วย เช่น เงินช่วยค่าทำศพ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์

ดังนั้น เงินประกันชีวิต ที่มีเพื่อนผู้อ่านถามเข้ามาว่าเป็น “มรดก” หรือไม่นั้น

คำตอบ คือ เงินประกันชีวิตไม่ถือว่าเป็นมรดก

เพราะ เงินประกันชีวิตนั้นได้มาหลังจากที่ “เจ้ามรดก” เสียชีวิตแล้ว รวมถึงกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าให้เงินประกันชีวิตตกเป็นของผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันได้ระบุไว้ในใบคำขอเอาประกันชีวิต ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์จึงมีสิทธิในเงินประกันชีวิตดีกว่าทายาทของผู้เอาประกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพูดถึงเรื่อง มรดกตามกฎหมาย  ภาษีการรับมรดก คำจำกัดความ  ก็จะแคบลง เพราะกฎหมายภาษี  การรับมรดก ระบุทรัพย์สินที่จะต้องนำมาเสียภาษีเพียง 5 สิ่งเท่านั้น ได้แก่

1) อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน

2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวม

3) เงินฝากซึ่งอยู่ในประเทศไทย

4) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์

5) ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา หมายความว่าทางรัฐบาลอาจจะกำหนดให้มีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เข้าข่ายต้องนำมาเสียมรดกเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

จะเห็นได้ว่าในเรื่องภาษีการรับมรดกนั้นระบุค่อนข้างชัดเจนว่าทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ต้องนำมาเสียภาษีการรับมรดก ซึ่งทรัพย์สินที่ไม่ได้ระบุไว้ก็ทายาทก็ไม่ต้องนำมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีการรับมรดก เช่น เงินสด พระเครื่อง ของเก่าที่สะสมไว้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ทายาททุกคนจะต้องเสียภาษีมรดกนะครับ เพราะกฎหมายกำหนดว่า เฉพาะทายาทที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท จะต้องนำส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทเท่านั้นมาเสียภาษีมรดกครับ

สำหรับท่านใดที่อยากสอบถาม หรือพูดคุยกับผม ก็สามารถเข้าไปคุยกันต่อได้ที่เพจ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/ นะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน