การเงินเพื่อความยั่งยืนทั่วโลกมีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในปี 2021 มีมูลค่า 929,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโต 10 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในขณะมูลค่าสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในปี 2021 มีมูลค่า 716,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโต 7 เท่าจากปี 2018

ขณะที่ประเทศไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 มีมูลค่าตราสารหนี้คงค้างด้านความยั่งยืน จำนวน 330,049 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น Sustainability Bond ของรัฐบาล ลำดับถัดมาคือ Green Bond เพื่อใช้ในโครงการด้านพลังงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2022 จะมีการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน 76,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 12.1 ตามมุมมองเศรษฐกิจที่ขยายตัว อย่างไรก็ดี ในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะส่งให้ผลให้การออกตราสารหนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ขณะที่ในระยะยาวนโยบายด้านพลังงานทดแทนและการสนับสนุนของหน่วยงานกำกับภาคการเงินจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนได้รับความนิยมมากขึ้น

ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยภาคการเงินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสาเหตุที่ทำให้การเงินยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างมากมาจากการให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามองค์การสหประชาชาติหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) และการมีส่วนร่วมในข้อตกลงปารีส Paris Agreement เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เริ่มเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการเงิน ส่งผลให้หน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในหลายประเทศ หันมาให้การสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

แนวโน้มการเงินเพื่อความยั่งยืนทั่วโลกมีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด มูลค่าตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วย ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่องความยั่งยืน (Sustainability Bond) เติบโตถึง 10 เท่า จาก 93,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 เป็น 929,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่มากจากการออก Green Bond โดยวัตถุประสงค์ในการระดมทุน 3 ลำดับแรก ได้แก่ ด้านพลังงาน 37% ด้านอาคารสีเขียว 29% และการขนส่ง 17% ตามลำดับ ในขณะที่การให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 106,566 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2018 เป็น 716,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2021 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่าตัว

 

ที่มา Climate Bond initiative

ที่มา Climate Bond initiative

ที่มา Sustainable finance continues surge in 2021,Refinitiv

สำหรับการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนประเทศไทย ยอดคงค้างตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 มีจำนวน 330,049 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น Sustainability Bond จากการกู้ของรัฐบาลเพื่อใช้เยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มูลค่า 147,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากไม่รวมตราสารหนี้ดังกล่าวของรัฐบาล Green Bond ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าคงค้าง 106,156 ล้านบาท โดย Green Bond ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เงินในโครงการพลังงานหมุนเวียน ลำดับถัดมาคือ เพื่อใช้เงินในโครงการสร้างรถไฟฟ้า โดยแนวโน้มการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ไม่รวม Sustainability Bond ของรัฐบาลในปี 2020) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปีละ 101% โดยส่วนใหญ่เป็นการออก Green Bond และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 2 ในปี 2022 มีการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนแล้ว 41,850 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น Green Bond มูลค่า 20,850 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการพลังงานหมุนเวียน

ที่มา: ThaiBMA

ที่มา: ThaiBMA รวบรวมศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ที่มา: ThaiBMA , ปี 2022 ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2022 จะมีการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน 76,000. ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 12.1 ตามมุมมองเศรษฐกิจที่ขยายตัว อย่างไรก็ดี ในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะส่งให้ผลให้การออกตราสารหนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ในระยะยาว การเงินเพื่อความยั่งยืนจะเป็นที่นิยมมากขึ้นโดยเฉพาะการระดมทุนด้วยตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในโครงการด้านพลังงาน เนื่องจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2018 – 2037 (AEDP2018) ที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 12,403 MW เป็น 29,411 MW ในปี 2580 รวมถึงพันธบัตรประเภท Sustainability-Linked Bond ที่มีหลักเกณฑ์ยืดหยุ่นกว่าการออก Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond เนื่องจากไม่จำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงิน แต่จะต้องกำหนดเป้าหมายการดำเนินการด้านความยั่งยืนแทนซึ่งจะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้จัดทำ Sustainable Finance Initiatives for Thailand (แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน) ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อให้สนับสนุนบทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ

โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ผ่านรายงานประจำปีหรือ One report ออกหลักเกณฑ์และการปฏิบัติเพื่อเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน และยกเว้นค่าธรรมเนียมอนุญาตและแบบไฟลิ่งตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืน ถึง 31 พฤษภาคม 2025

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีจัดทำนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Taxonomy) และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน