เอเชียส่งออก Big Bike ปี 62 โต10% รุ่นเล็กพุ่งแซงรุ่นใหญ่ใน 3 ปี

           ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Big Bike (รถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 251 ซีซี ขึ้นไป) ได้ขยับบทบาทมามีส่วนสำคัญในตลาดรถจักรยานยนต์ไทย โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมามีปริมาณการผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 200,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของการผลิตรถจักรยานยนต์รวม เพื่อรองรับความต้องการทั้งในประเทศและส่งออก

          ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการวางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2555 ของบีโอไอในการส่งเสริมการผลิต Big Bike และชิ้นส่วน ส่งผลดึงดูดค่ายรถจักรยานยนต์จากทั้งญี่ปุ่น และชาติตะวันตก ให้ทยอยเข้ามาลงทุนผลิต Big Bike ในไทยนับตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง

          ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อความต่อเนื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนไทยในช่วงที่ผ่านมา ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นมาสู่การเป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ผลิตและส่งออก Big Bike ที่สำคัญของโลก ท่ามกลางสภาวะตลาดรถจักรยานยนต์รวมในประเทศที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวด้วยอัตราการถือครองรถจักรยานยนต์ต่อประชากรที่ 1:3

           ส่วนในระยะต่อจากนี้ไป แม้บทบาทของ Big Bike ไทยในบางตลาด และบางประเภทอาจจะต้องลดลงไปบ้าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปัจจุบัน และการวางยุทธศาสตร์การผลิตของแต่ละค่าย

           แต่ทว่าสำหรับ Big Bike ไทยโดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ไว้ล่าสุดเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 ว่า โอกาสนี้จะทำให้เห็นบทบาทของไทยที่เพิ่มขึ้นในการเป็นฐานการผลิตที่ทวีความสำคัญของค่าย Big Bike ต่างๆ โดยเฉพาะในรุ่นเล็ก (251 ถึง 500 ซีซี) และรุ่นใหญ่ (801 ซีซีขึ้นไป) เพื่อรองรับตลาดศักยภาพที่กำลังเติบโตสูงอย่างเอเชีย

ส่งออก Big Bike ไทยสู่ยุคเปลี่ยนผ่านดันตลาดเอเชียโต 20% ในปี 62

        ด้วยจำนวนยอดขาย Big Bike ทั่วโลกกว่า 2 ล้านคันต่อปี ซึ่งเทียบเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลกล่าสุดปี 2562 ที่ 62 ล้านคัน ทำให้ Big Bike เป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดเล็กพอสมควร ฐานการผลิต Big Bike ในโลกจึงมีอยู่ได้เพียงไม่กี่ประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต

        ซึ่งไทยได้กลายมาเป็นหนึ่งในฐานการผลิต Big Bike ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วยสัดส่วนการผลิตสูงถึงกว่าร้อยละ 10 ของการผลิต Big Bike รวมทั่วโลก โดยกว่าที่ไทยจะมาถึง ณ จุดนี้ ได้มีการพัฒนาผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญๆดังต่อไปนี้

       ยุคบุกเบิก ด้วย Big Bike รุ่นกลาง (501 ถึง 800 ซีซี) โดยเกือบ 2 ทศวรรษของการเข้ามา ลงทุนของค่าย Big Bike สัญชาติอังกฤษ เน้นการผลิตรุ่นกลางนี้ก็เพื่อรองรับกับความต้องการในประเทศ และเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต Big Bike ต้นทุนต่ำส่งไปตลาดโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง โดยจากบรรดาตัวเลือกฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ต้นทุนต่ำขนาดใหญ่ในขณะนั้น เช่น ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

        สิ่งที่ทำให้ไทยมีความโดดเด่นและกลายมาเป็นตัวเลือกในการลงทุนของค่าย Big Bike คือ โอกาสในการทำตลาดในประเทศที่มีมากกว่า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงกว่า และขณะนั้นก็มีตลาด Big Bike อยู่ในประเทศไทยระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่าขณะนั้นไทยจะยังไม่ได้มีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ Big Bike เลย

       ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ Big Bike รุ่นเล็ก (251 ถึง 500 ซีซี) และรุ่นใหญ่ (801 ซีซีขึ้นไป) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการที่บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลักดันให้ไทยมีการผลิต Big Bike รุ่นอื่นในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าย Big Bike อีกหลายค่ายตัดสินใจวางไทยเป็นฐานการผลิต Big Bike รุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ แล้วลดบทบาทความสำคัญของการผลิต Big Bike รุ่นกลางลง

        จนทำให้การส่งออก Big Bike ของไทยใน 2 รุ่นดังกล่าวไปทุกตลาดรวมกันเพิ่มสัดส่วนการส่งออกขึ้นเรื่อยๆ นำการส่งออก Big Bike รุ่นกลางซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย สะท้อนจากในปี 2561 มูลค่าการส่งออก Big Bike รุ่นกลางมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด

       ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามาลงทุนของค่าย Big Bike ต่างๆในครั้งนี้ยังได้เพิ่มความสำคัญให้กับการทำตลาดในทวีปเอเชียมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่ทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือทยอยลดบทบาทความสำคัญลงไป สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตของตลาดเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ทิศทางการเติบโตของตลาดเอเชียดังกล่าวทำให้ค่าย Big Bike ที่เข้ามาลงทุนในไทยช่วง 2 ปีหลังนี้และในระยะถัดไปเน้นการเข้ามาลงทุนเพื่อทำตลาดส่งออกไปทวีปเอเชียอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากในปี 2561 ที่ผ่านมาเอเชียกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 24 ของการส่งออกรวมไปทั่วโลกของไทย จากที่เคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ในปี 2554 (1 ปีก่อนที่บีโอไอจะมีการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน Big Bike)

        ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดเอเชียดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็วิเคราะห์ไว้อีกว่า จะส่งผลให้การส่งออก Big Bike ของไทยไปยังตลาดเอเชียปี 2562 นี้ น่าจะมีโอกาสขยายตัวกว่าร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 264 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2561 ที่เติบโตร้อยละ 17 ผลักดันให้การส่งออก Big Bike โดยรวมของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 994 ล้านดอลลาร์ฯ

Big Bike รุ่นเล็กไปเอเชียโตแรงต่อเนื่อง…โดยจีนและอาเซียนเป็นตลาด Big Bike หลักของไทย

        จากทิศทางการลงทุนของค่าย Big Bike ในไทยที่มุ่งหน้าไปสู่ตลาดเอเชียมากขึ้นดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะส่งผลให้รูปแบบการส่งออก Big Bike ของไทยไปยังตลาดเอเชียมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นนับจากปี 2562 นี้ไป โดยคาดว่าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

       ในระยะ 3 ปีข้างหน้านี้ Big Bike รุ่นใหญ่จากไทยไปเอเชีย จะมีปริมาณและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตรวม หลังค่าย Big Bike ที่เข้ามาแล้วและกำลังจะเข้ามาลงทุนในไทยช่วงนี้ เน้นการผลิตรุ่นใหญ่ และวางไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปเอเชียเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีฐานรายได้สูง และการที่ผลิตจากไทยทำให้ระดับราคา Big Bike ลดลงจากอดีตด้วย

       ส่งผลให้มูลค่าส่งออกรุ่นใหญ่ยังคงอยุ่ในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหลังจาก 3 ปีนี้ไป Big Bike รุ่นเล็กจะกลายมาเป็นรุ่นที่มีมูลค่าการส่งออกในเอเชียสูงขึ้นแซงหน้า Big Bike รุ่นใหญ่ เป็นผลจากการที่ค่าย Big Bike หลายค่ายที่เดิมเน้นทำตลาด Big Bike รุ่นใหญ่ มีแผนที่จะพัฒนารุ่นเล็กออกมาสู่ตลาดในอนาคต

        ประกอบกับค่ายที่ผลิตรุ่นเล็กอยู่แล้วมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อการส่งออกไปเอเชียมากขึ้น พร้อมกับลดบทบาทของรุ่นกลางลง สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเติบโตจากปัจจัยสำคัญอย่างราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้นของ Big Bike รุ่นเล็กเหมาะกับผู้ซื้อหน้าใหม่จำนวนมากในเอเชียที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่ของไทยจะเป็นประเทศที่ไทยมีการทำ FTA ด้วย และตัวเลขประชากรที่มีกำลังซื้อกำลังขยายจำนวนขึ้น นำโดยประเทศที่ตลาด Big Bike ในประเทศกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น อาเซียน จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น

         ซึ่งหลายประเทศในจำนวนนี้ แม้จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศปริมาณสูง แต่ยังไม่มีการผลิต Big Bike ในประเทศ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกของไทยโดยเฉพาะจีน ซึ่งกำลังซื้อประชากรเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนกลายมาเป็นประเทศผู้นำเข้า Big Bike หลักแห่งหนึ่งของเอเชีย ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยช่วง 10 ปี กว่าร้อยละ 53

         ขณะที่ประเทศในอาเซียนซึ่งมีที่ตั้งใกล้กันกับไทย โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เศรษฐกิจประเทศกำลังขยายตัว และมีการใช้รถจักรยานยนต์สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกตามลำดับนั้น ก็เป็นตลาดใหม่อีกตลาดที่น่าสนใจสำหรับการส่งออก Big Bike ของไทยด้วยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การนำเข้า Big Bike ของเวียดนามมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 55 เป็นอัตราที่สูงที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว

        โดยสรุป การส่งออก Big Bike ของไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะ Big Bike รุ่นเล็กในตลาดเอเชีย ซึ่งการที่ไทยได้กลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ค่าย Big Bike เลือกลงฐานการผลิต ทำให้โอกาสการลงทุนในระยะยาวสำหรับการผลิต Big Bike เพื่อตลาดในประเทศและส่งออกสำหรับไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อันจะกลายมาเป็นจักรกลสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีโอกาสขยายตัวต่อยอดไปได้ในภาวะตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมในประเทศอิ่มตัว

          ทั้งนี้ การมาลงทุนของค่าย Big Bike โดยรวมนั้นส่งผลดีต่อปริมาณการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของไทยในห่วงโซ่อุปทานเดิมที่อยู่ในระบบอยู่แล้วให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศในการผลิต Big Bike สูงถึงกว่าร้อยละ 60 อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนในกลุ่มโครงรถ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนตกแต่ง ระบบกันสะเทือน เบรค ท่อไอเสีย ล้อรถ ยางล้อ และอื่นๆ เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังอาจมีโอกาสที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มในส่วนของชิ้นส่วนสำคัญบางอย่างด้วย โดยเฉพาะชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ เช่น เสื้อสูบ ฝาสูบ อ่างน้ำมันเครื่อง เพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว และก้านลูกสูบ เป็นต้น ซึ่งบีโอไอได้กำหนดให้ค่าย Big Bike ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนต้องมีการลงทุนเพิ่มสำหรับชิ้นส่วนบางตัวในเครื่องยนต์ดังที่กล่าวไป อันจะเป็นโอกาสให้ในอนาคตอาจเกิดการลงทุนเพิ่มเติมในชิ้นส่วนอื่นๆของเครื่องยนต์ตามมา

        รวมถึงอาจเกิดการผลิตเครื่องยนต์ครบสมบูรณ์ของ Big Bike ขึ้นในไทย โดยเฉพาะสำหรับ Big Bike รุ่นเล็กบางค่ายที่มีโอกาสที่กำลังการผลิตในไทยในอนาคตข้างหน้าอาจเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนค่าย Big Bike นั้นๆมองเห็นศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวให้เกิด economies of scale ได้ ทั้งเพื่อรองรับตลาดในประเทศและการส่งออก ซึ่งเหล่านี้อาจจะเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นให้ผู้ประกอบการไทยในระยะต่อไปได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรม Big Bike ในไทย

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน