นายนพพล เบี้ยวไข่มุข ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตคนใหม่ เปิดเผยถึงนโยบายการทำงาน และพร้อมสานต่องานเดิมจากนายจรัญ สอนสวัสดิ์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2565 ด้วยภารกิจหลักสำคัญที่จะมุ่งมั่นเร่งรัดดูแลสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ประชาชนตระหนักรู้ในสิทธิประโยชน์ของตนทั้งก่อนและหลังการเกิดเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ

ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก (Proactive PR) ต่อยอดสร้างเครือข่าย และประสานขอความร่วมมือกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน (THAIFA) สมาคมนายหน้า ตลอดจนองค์กรอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระที่มีพลังขับเคลื่อนชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งสื่อสารมวลชนทุกแขนง โดยผ่านทุกช่องทาง Social Network ในปัจจุบัน

เพราะปัจจุบันมีเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ ที่ทุกบริษัทประกันชีวิตนำส่งเข้ากองทุนประกันชีวิต ณ วันที่ 31 มี.ค 2565 เป็นเงินจำนวน 1,669 ล้านบาท ด้วยจำนวน 1.16 ล้านกรมธรรม์ หรือร้อย 2.85  โดยกองทุนฯ ได้จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินไปแล้ว จำนวน 8,582 กรมธรรม์หรือเพียง 0.74% ของจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด ด้วยจำนวนเงินจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 48 ล้านบาท คิดเป็น 2.60% ของจำนวนเงินทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยในใจมีเป้าหมายในวาระของตนนี้จะให้มีการคืนเงินแก่ผู้สิทธิได้มากถึงร้อยละ 10

หากทุกองคาพยพร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ สัดส่วนการจ่ายเงินฯ คืนจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยทางกองทุนฯ จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้ประชาชนผู้เอาประกันสามารถตรวจสอบสิทธิ ขอรับสิทธิ และรับผลประโยชน์คืนผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว โดยโอนตรงเข้าบัญชีแบบไร้เงินสด

 สำหรับนโยบายเชิงกลยุทธ์นั้น ตนจะยึดผู้เอาประกันภัยหรือเจ้าหนี้ เป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ให้ได้รับการบริการ 4S คือ Simple (เรียบง่ายไม่ซับซ้อน) Speed (ความรวดเร็ว) Solution (มีทางออกในทุกปัญหา) และ Satisfaction (ได้รับความพึงพอใจในทุกกรณี) พร้อมขับเคลื่อนกองทุนฯ บนพื้นฐานการพัฒนา 3P ภายในองค์กรทั้ง Personnel (บุคลากร) Process (กระบวนการปฏิบัติงาน) และ Platform (ระบบรองรับ) เพื่นนำไปสู่การดำเนินบทบาทใน 6 ภารกิจของกองทุนฯ คือ

ภารกิจที่ 1 ให้การคุ้มครองเจ้าหนี้ โดย จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ปัจจุบันเฉลี่ยต่อเดือนจะมีบริษัทประกันชีวิตส่งเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความเข้ามาที่กองทุนฯ ประมาณ 20 ล้านบาท หรือประมาณ 11,000 กรมธรรม์ หรือต่อปีประมาณ 230 กว่าล้านบาท และกว่า 1.2 แสนราย

ภารกิจที่ 2 ประสานร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภารกิจที่ 3 ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างเครือข่ายผ่านทุกช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียรวมถึงช่องติีกต็อก (TIKTOK) ภารกิจที่4 การพัฒนาเทคโนโลยี ภารกิจที่ 5 พัฒนาบุคคลากร (Back office) และ ภารกิจที่ 6 การลงทุน ในสินทรัพย์ของกองทุนประกันชีวิตที่มีอยู่ประมาณ 9,000 ล้านบาทเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันที่ฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำกับพันธบัตรรัฐบาลไม่ถึง 10%

นอกจากนั้นยังมีการเตรียมการรองรับกรณีบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาต และกองทุนฯ ต้องเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปนั้น กองทุนฯ ได้ศึกษาและจัดทำแผนรองรับเบื้องต้นในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าทุกบริษัทประกันชีวิตยังคงมีความมั่นคงแข็งแกร่งในระยะยาว โดยอัตราความพอเพียงของเงินกองทุน (%CAR) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด (Supervisory CAR ที่ 140%) ค่อนข้างมาก

นายนพพลกล่าวท้ายสุดว่า จากทั้งนโยบายและแนวทางปฏิบัติหมดนี้จะนำพากองทุนฯ สู่ความสำเร็จด้วยการสร้างผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย พร้อมไปกับการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในธุรกิจประกันชีวิตไทย ดังเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต ตามพรบ.ประกันชีวิต อย่างแน่นอน.-

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....