หลังจาก สำนักงานคปภ.มีแนวคิดปรับปรุง “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐาน” เมื่อปี 2562 และได้ใช้เวลา 2  ปี ในการปรับปรุง แก้ไขในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทางปฏิบัติที่ยังไม่ชัดเจน ระหว่างนี้ได้ช่วยให้ธุรกิจประกันชีวิตมีเวลาปรับตัว

ล่าสุดหลังมีคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต มีผลบังคับให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

บริษัทประกันชีวิตที่มีความพร้อมก็สามารถเสนอขายแบบประกันสุขภาพตามคำสั่งดังกล่าวได้เลย ส่วนบริษัทที่ไม่พร้อมสามารถขายแบบประกันสุขภาพแบบเดิมไปก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

และวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทุกบริษัทประกันชีวิตต้องเริ่มใช้ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่” ( New Health Standard) แทนแบบเดิม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ และสอดคล้องกับเทคโนโลยีวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ออกประกาศจำแนกรายการ ค่ารักษาพยาบาล  เมื่อปี 2560 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้ว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกเรียกเก็บเป็นค่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง

วันนี้ คอลัมน์ Misssuree Review จึงขอนำสาระสำคัญของ สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต ( New Health Standard ) ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมโดยสรุป จากงานสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชนหัวข้อ “New Health Standard” สำคัญอย่างไร ทำไมต้องรู้ จัดโดย สมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 มาให้เป็นความรู้กันค่ะ

@เปรียบเทียบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบเดิมและแบบใหม่

ที่มา สมาคมประกันชีวิตไทย

ที่มา สมาคมประกันชีวิตไทย

ที่มา สมาคมประกันชีวิตไทย

ที่มา สมาคมประกันชีวิตไทย

@ เหตุผลที่ปรับปรุง “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่” 

ด้วยที่ผ่านมา สำนักงานคปภ.มองว่า มีข้อโต้แย้งในประเด็นความชัดเจนของเงื่อนไขสัญญาประกันสุขภาพ ทำให้ต้องตีความกันบ่อยครั้ง หรือกรณี “ผู้เอาประกัน” ถูกปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์  จึงนำมาสู่การปรับปรุงในสัญญาเพิ่มเติมฯ

นอกจากนี้ยังมองอีกด้วยว่า  หากมีการปรับปรุงแล้วน่าจะมีผลดีคือ ทำให้มีแบบประกันสุขภาพใหม่ๆและสอดคล้องกับธุรกิจประกันชีวิต  ได้มีการปรับเงื่อนไขความคุ้มครองให้สอดคล้องกับความเจริญทางการแพทย์หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วต้องการให้ลูกค้าที่ซื้อ “กรมธรรม์ประกันสุขภาพ” ไปมีความยั่งยืน “ไม่ถูกปฏิเสธ” หรือ “ถูกยกเลิก” การต่ออายุกรมธรรม์ได้ง่าย และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพิ่มเติม

เช่น เพิ่มเงื่อนไขให้ ผู้เอาประกันภัยมี ค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้บริษัทประกันชีวิตบริหารความเสี่ยงที่ดี จากเดิมลูกค้าประกันที่เกิดการเคลมค่ารักษาพยาบาลสูงมักไม่ได้รับการต่อสัญญาประกันสุขภาพ แต่หลังจากนี้ต่อสัญญาได้แต่ต้องดูการเคลมหรือการเรียกร้องค่าสินไหมประกอบกันด้วย ฉะนั้นถ้า ผู้เอาประกันภัยมาร่วมจ่าย จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการเคลมมากๆได้

หลังจากปรับปรุง “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่” แล้วทางสำนักงานคปภ.คาดหวังเกิด “การประกันสุขภาพภาคสมัครใจ” ที่สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง  เพราะทำให้สัญญาประกันภัยสุขภาพเกิดความชัดเจนมากขึ้น   มีการันตีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ  มีความคุ้มครองที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบัน เช่น จากเดิมเวลาเจ็บป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน แต่ปัจจุบันอาจรักษาที่โรงพยาบาลวันเดียวแล้วกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้

อีกทั้ง มีการปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกัน โดยการ “เพิ่มคำนิยาม” ต่างๆเข้ามา  มีการจัดหมวดหมู่เพิ่มความคุ้มครองใหม่ เป็นต้น และทำให้เกิดความโปร่งใส ลดการเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ซ้ำซ้อน

เช่น ให้บริษัทประกันชีวิตส่งข้อมูลการประกันสุขภาพไปรวมที่สำนักงานคปภ.เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูล ป้องกันการฉ้อฉล ป้องกันการเบิกค่ารักษาฯแบบซ้ำซ้อน และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การ “ปรับเพิ่ม” หรือ “ลดเบี้ยประกัน” ให้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้แนวปฏิบัติในการพิจารณารับประกันภัยและการพิจารณาสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพไปในแนวทางเดียวกันทั้งระบบ รวมถึงผู้เอาประกันภัยเองสามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์ได้ชัดเจนขึ้นเพราะมีการจัดหมวดหมู่ที่ค่อนข้างชัดเจน 

@คำสั่งใหม่ในแบบประกันฯที่ทุกบริษัทต้องมี

สำหรับข้อยุ่งยากของบริษัทประกันชีวิต ที่หลังจากออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพตาม “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่” หรือ New Health Standard แล้วต้องมี คือ

1.นอกจากต้องไปขอความเห็นชอบจาก “นายทะเบียน” แล้ว

2.ต้องให้ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” เซ็นรับรองแบบประกันสุขภาพทุกครั้ง ทุกหน้า เพื่อรับรองแบบประกัน  ข้อความ  และการให้ความความคุ้มครอง ว่าเป็นไปตามหลักการของการประกันภัยจริง เพื่อป้องกันความเสียหายของบริษัทในภายหลัง

3.กรณีมี หลักเกณฑ์ เงื่อนไข  “การต่ออายุ” และ “การเพิ่มเบี้ย” ของลูกค้า  บริษัทจะต้องแนบรายชื่อโรคกรณีป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases) ว่าเป็นโรคอะไร  ให้สำนักงานคปภ.พิจารณาก่อน ขอรับความเห็นชอบ ซึ่งบริษัทจะไปกำหนดเองในภายหลังไม่ได้ ว่า ผู้เอาประกันภัย มีเคลมเยอะ โดยไม่บอกว่าโรคอะไร แล้วบริษัทมาขอปรับเพิ่มเบี้ยหรือไม่ต่ออายุลูกค้า จะไม่สามารถทำได้   

โดยในสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายคำสั่งมีอยู่ทั้งหมด 5 โรคด้วยกัน  โดย “การป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases)”   หมายถึง การป่วยเล็กน้อยทั่วไป ใน 5 กลุ่มโรค ตามระบบ ICD-10 คือ 

(1) โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ (Upper Respiratory Tract Infection)

(2) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

(3) ท้องเสียเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)

(4) โรคเวียนศีรษะ (Vertigo) และ

(5) โรคอื่นๆที่บริษัทประกาศกำหนดโดยไม่ปรากฏโรคหรือภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง หรือ ป่วยด้วยโรคอื่นตามมา 

โรคที่ 5 นี้ สำนักงานคปภ.และภาคธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย กำลังหารือร่วมกันว่า โรคที่ 5 โรคอื่น ๆ นั้น เป็นโรคแบบไหนบ้าง ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานหลายฝ่ายช่วยพิจารณาว่าโรคที่เสนอมาใช่โรคที่ป่วยเล็กๆน้อยทั่วไปหรือไม่ 

4.ให้รายงานข้อมูลสถิติ ด้วยคำสั่งนายทะเบียนได้กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องรายงานข้อมูลการรับประกันสุขภาพให้กับสำนักงานคปภ.ทราบ ขณะนี้อยู่ระหว่างบริษัทเตรียมจัดทำข้อมูล

@ เอกสารแนบท้ายคำสั่ง “คำนิยาม-ข้อกำหนด-ข้อยกเว้น”

สาระสำคัญส่วนที่ 2 คือ เอกสารแนบท้ายคำสั่ง คือ แบบประกันสุขภาพและข้อความของสัญญาเพิ่มเติมฯ มีเงื่อนไขหลักๆ คือ

1. คำนิยาม

“มาตรฐานทางการแพทย์”

หมายถึง หลักเกณฑ์หรือแนวทางการรักษาพยาบาลการบาดเจ็บหรือการป่วยตาม หลักวิชาการโดยสอดคล้องกับมาตรฐานในท้องถิ่นที่ให้บริการ ดังต่อไปนี้

(1) มาตรฐานวิชาชีพและข้อบังคับวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

(2) มาตรฐานสถานพยาบาล

(3) มาตรฐานด้านยา และเครื่องมือแพทย์

(4) หลักการดูแลผู้ป่วยโดยไม่เลือกปฏิบัติ

“ความจำเป็นทางการแพทย์”

หมายถึง ความจำเป็นต้องใช้บริการทางการแพทย์หรือบริการอื่นๆของโรงพยาบาล (หรือใช้คําว่า“สถานพยาบาล” แทนก็ได้) เพื่อการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาการบาดเจ็บหรือการป่วยโดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1) ต้องสอดคล้องกับการวินิจฉัยโรค และการรักษาตามภาวะการณ์บาดเจ็บ หรือการป่วยของผู้เอาประกันภัย

(2) ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานทางการแพทย์

(3) ต้องมิใช่เพื่อความสะดวกของผู้เอาประกันภัยหรือครอบครัวของผู้เอาประกันภัย หรือของผู้ให้บริการ รักษาพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว

ความรับผิดส่วนแรกและค่าใช้จ่ายร่วม

“ความรับผิดส่วนแรก (Deductible)”  หมายถึง ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับภาระ ตามข้อตกลงของสัญญาประกันภัย

“ค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment)”  หมายถึง ความรับผิดระหว่างบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัยที่ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อันจะพึงจ่ายตามจำนวนเงินผลประโยชน์ภายหลังหักจำนวนความรับผิดส่วนแรก (ถ้ามี)

Deductible & Co payment

บริษัทประกันสามารถออกสินค้าที่มีเบี้ยประกันภัยถูกลง เพื่อการแข่งขันในตลาดได้โดยออกสินค้าที่ลูกค้ามีส่วนร่วมจ่ายได้ 2 แบบดังนี้

ความรับผิดส่วนแรก (Deductible)

ผู้เอาประกันภัยจะมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้และบริษัทประกันจะจ่ายส่วนเกินที่เหลือที่เกิดขึ้น โดยการรับผิดส่วนแรกสามารถมีได้ทั้งแบบต่อปีกรมธรรม์หรือต่อครั้ง หรือค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment)

ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) เช่น การร่วมจ่ายแบบ 80:20 บริษัทประกันออกค่าใช้จ่าย 80% ผู้เอาประกันภัยออก 20% ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง

2.ข้อกำหนดทั่วไป เช่น การต่ออายุสัญญาฯ การบอกเลิกสัญญา การปรับเบี้ยประกันภัยฯ เป็นต้น 

ข้อที่ 7. การต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal)

กําหนดให้บริษัทไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์แต่ บริษัทยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการปรับอัตราเบี้ยประกันภัย ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และ สัญญาฯระบุว่า จะไม่ต่อสัญญาฯ เมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. มีหลักฐานว่า ผู้เอาประกันภัยไม่แถลงข้อความจริงตามใบคําขอเอาประกันภัย หรือคําขอต่ออายุใบแถลงสุขภาพ หรือข้อแถลงเพิ่มเติมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ
  2. ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์จากการที่ตนให้มีการรักษาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่ ไม่มีความจําเป็นทางการแพทย์
  3. ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง

กรณีที่มีการเบิกเคลมสูงแบบไม่สมเหตุสมผล

บริษัทประกันสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงความคุ้มครองโดยการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) เช่น การร่วมจ่ายแบบ 70:30 บริษัทประกันออกค่าใช้จ่าย 70% ผู้เอาประกันภัยออก 30% ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง

การต่ออายุกรณีสัญญาเพิ่มเติมสิ้นผลคุ้มครอง (Reinstatement)

หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพภายใน 90 วัน นับจากวันที่สัญญาเพิ่มเติมนี้สิ้นผลคุ้มครองลงบริษัทจะไม่นําระยะเวลาในข้อกําหนดทั่วไปเรื่องสภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) และเรื่องระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) มาเริ่มนับใหม่

การปรับอัตราเบี้ยประกันภัย

บริษัทอาจปรับเบี้ยประกันภัย ณ วันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. อายุ และชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ของสัญญาเพิ่มเติมนี้โดยบริษัทจะแจ้งผู้เอาประกันภัยทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยที่มีการปรับจะต้องอยู่ในอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนไว้แล้ว

“การป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases)”   หมายถึง การป่วยเล็กน้อยทั่วไป ใน 5 กลุ่มโรค ตามระบบ ICD-10  

(1) โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ (Upper Respiratory Tract Infection)

(2) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

(3) ท้องเสียเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)

(4) โรคเวียนศีรษะ (Vertigo) และ

(5) โรคอื่นๆที่บริษัทประกาศกำหนดโดยไม่ปรากฏโรคหรือภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง หรือ ป่วยด้วยโรคอื่นตามมา   

ทั้งนี้การป่วยเล็กน้อยทั่วไปใน 5 กลุ่มโรค บริษัทจะประกาศไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติที่นายทะเบียนประกาศกำหนด โดยบริษัทจะแนบรายชื่อโรคเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases) ไปพร้อมกับสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อโรค

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเป็นโรคการป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple disease) จะพิจารณาจากกลุ่มโรคตามคํานิยาม “การป่วยเล็กน้อยทั่วไป” ในสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ แบบมาตรฐาน ประกอบร่วมกับสัญญาณชีพและข้อมูลทางคลินิกอื่นๆ ที่สามารถให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้

กรณีผู้เอาประกันภัยมีการเรียกร้องผลประโยชน์จากการป่วยเล็กน้อยทั่วไป และเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยไม่น้อยกว่า 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ร้อยละ 200 ของเบี้ยประกันภัยในปีต่ออายุ จะจัดเป็นเกณฑ์ข้อหนึ่ง ที่บริษัทจะสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงความคุ้มครองโดยการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Co-payment) ในการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมนี้ได้

กำหนดผลประโยชน์ เป็นหมวดมาตรฐาน 13 หมวด

ผลประโยชน์กรณีผู้ป่วยใน

หมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร

หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดและหัตถการ

หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน และผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

 ค่าธรรมเนียมแพทย์

ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทำศัลยกรรมและหัตถการ สำหรับแพทย์ทำศัลยกรรมและหัตถการ (รวมแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดศัลยกรรม) หรือ หัตถการ (Doctor fee)

  • บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์สำหรับค่าธรรมเนียมในการทำศัลยกรรมและการทำหัตถการของแพทย์และแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัด(ถ้ามี) ตามที่แพทย์หรือแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดเรียกเก็บจริง แต่ไม่เกินร้อยละ…(ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 50) ของค่าธรรมเนียมใน การศัลยกรรมและการทำหัตถการดังกล่าวที่ 90 เปอร์เซ็นต์ไทล์ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภา ประเทศไทย มีผลใช้คุ้มครองขณะทำการผ่าตัด (สามารถตัดออกได้กรณีให้ความคุ้มครองแบบจ่ายตามจริง)

การผ่าตัด

  • การผ่าตัดใหญ่

หมายถึง การผ่าตัดที่ผ่านผนังหรือช่องโพรงของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาสลบแบบทั่วไป (General Anasthesia) หรือการใช้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน (Regional Anaesthesis)

  • การผ่าตัดเล็ก

หมายถึง การผ่าตัดระดับผิวหนัง หรือชั้นเยื่อบุโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ (Local / Topical Anaesthesis) หรือเฉพาะบริเวณ

“การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน” (Day Surgery)

หมายถึง การผ่าตัดใหญ่หรือการทำหัตถการทดแทนการผ่าตัดใหญ่ หรือการใช้เครื่องมือบำบัดรักษาพิเศษที่สามารถทดแทนการผ่าตัดใหญ่ได้โดยไม่ต้องมีการ เข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล (หรือใช้คําว่า “สถานพยาบาล” แทนก็ได้)

หมวดมาตรฐาน 13 หมวด

ผลประโยชน์กรณีผู้ป่วยนอก

หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ของการเกิดอุบัติเหตุ

หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง

หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา

หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบําบัด

หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน

หมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก

โดยกําหนดให้ทุกแบบสัญญาประกันภัยสุขภาพ ต้องระบุหมวดผลประโยชน์ทั้ง 13 หมวดมาตรฐานไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์แต่จะคุ้มครองมากกว่าหรือน้อยกว่า 13 หมวดก็ได้ขึ้นกับแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยของแต่ละบริษัท

สภาพที่เป็นมาก่อนทำประกันภัย

สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาเพิ่มเติมนี้สำหรับโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) ที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันที่สัญญาเพิ่มเติมนี้เริ่มมีผลความคุ้มครองเป็นครั้งแรก

เว้นแต่

  1. ผู้เอาประกันภัยได้แถลงให้บริษัททราบ และบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัย โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ
  2. โรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ หรือการป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษา หรือวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือ ไม่ได้พบหรือที่ปรึกษาแพทย์ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่สัญญาเพิ่มเติมเริ่มมีผลคุ้มครองเป็นครั้งแรก และในช่วงเวลา 3 ปีตั้งแต่วันที่สัญญาเพิ่มเติมนี้มีผลความคุ้มครองเป็นครั้งแรก

Waiting Period (ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง)

ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาเพิ่มเติมนี้สำหรับ

  1. การป่วยใดๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมนี้หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่ม ผลประโยชน์ของสัญญาเพิ่มเติมนี้แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นภายหลัง หรือ
  2. การป่วยดังต่อไปนี้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมนี้หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่ม ผลประโยชน์ของสัญญาเพิ่มเติมนี้แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นภายหลัง
  • เนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด
  • ริดสีดวงทวาร
  • ไส้เลื่อนทุกชนิด
  • ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก
  • การตัดทอนซิล หรืออดีนอยด์
  • นิ่วทุกชนิด
  • เส้นเลือดขอดที่ขา
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่

3.ข้อยกเว้นทั่วไป

  1. ภาวะที่เป็นผลจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด หรือระบบการสร้างอวัยวะของร่างกายไม่สมบูรณ์แต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรม หรือความผิดปกติในการพัฒนาการของร่างกาย เว้นแต่สัญญาเพิ่มเติมนี้มีผลคุ้มครองมาไม่น้อยกว่า 1 ปีและปรากฏอาการหลังผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ (ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์) (16 ปีบริบูรณ์)
  2. การตรวจรักษาหรือการผ่าตัดเพื่อเสริมสวย หรือการแก้ไขปัญหาผิวพรรณ สิว ฝ้า กระ รังแค ผมร่วง หรือการควบคุมน้ำหนักตัว หรือการผ่าตัดอันมีลักษณะเลือกได้ เว้นแต่เป็นการตกแต่งบาดแผล อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ได้รับความคุ้มครอง
  3. การตั้งครรภ์แท้งบุตร ทำแท้ง การคลอดบุตร โรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์การแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก(รวมถึงการสืบวิเคราะห์และการรักษา) การทำหมัน หรือการคุมกำเนิด ยกเว้น มะเร็งครรภ์ไข่ปลาอุก(Choriocarcinoma)
  4. โรคเอดส์หรือกามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  5. การตรวจรักษา หรือการป้องกัน การใช้ยาหรือสารต่างๆ เพื่อการชะลอความเสื่อมของวัย หรือการให้ฮอร์โมน ทดแทนในวัย ใกล้หมดหรือหมดระดูการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในหญิงหรือชาย การรักษาความผิดปกติทางเพศ และการแปลงเพศ
  6. การตรวจสุขภาพทั่วไป การร้องขอเข้าอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม หรือร้องขอการผ่าตัด การพักฟื้นหรือการพักเพื่อการฟื้นฟูหรือการรักษาโดยวิธีให้พักอยู่เฉยๆ การตรวจวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุใดๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เวชกรรม หรือคลินิก
  7. ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชั่วโมง ของการเกิดอุบัติเหตุต่อครั้ง
  8. ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน สูงสุดไม่เกิน 30 วันต่อโรค แต่ละครั้ง ต่อรอบปีกรมธรรม์
  9. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาต่อรอบปีกรมธรรม์
  10. การรักษาหรือการบําบัดการติดยาเสพติดให้โทษ บุหรี่สุรา หรือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
  11. การตรวจรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างทดลอง การตรวจหรือการรักษาโรคหรืออาการหยุดหายใจขณะหลับ การตรวจหรือการรักษาความผิดปกติของการนอนหลับ การนอนกรน
  12. การปลูกฝีหรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ยกเว้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้าภายหลังการถูกสัตว์ทำร้าย และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ภายหลังได้รับการบาดเจ็บ
  13. การตรวจรักษาที่ไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงการแพทย์ทางเลือก
  14. ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจรักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นแพทย์สั่งให้แก่ตัวเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้ซึ่งเป็น บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เอาประกันภัย
  15. การฆ่าตัวตาย การพยายามฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายตนเอง หรือการพยายามทำร้ายร่างกายตนเองไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยตนเอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างวิกลจริตหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้รวมถึงอุบัติเหตุจากการที่ผู้เอาประกันภัย กิน ดื่ม หรือฉีดยาหรือสารมีพิษเข้าร่างกาย การใช้ยาเกินกว่าที่แพทย์สั่ง
  16. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราสารเสพติดหรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้คําว่า “ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา” นั้น ในกรณีที่มีการตรวจเลือดให้ถือเกณฑ์มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
  17. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัยก่ออาชญากรรมที่มีความผิดสถานหนักหรือขณะถูกจับกุม หรือหนีการจับกุม
  18. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย แข่งรถ หรือแข่งเรือทุกชนิด แข่งม้า แข่งสกีทุกชนิดรวมถึงเจ็ตสกีด้วยแข่งสเก็ต ชกมวย โดดร่ม (เว้นแต่การโดดร่มเพื่อรักษาชีวิต) ขณะกําลังขึ้นหรือกําลังลงหรือโดยสารอยู่ในบอลลูนหรือเครื่องร่อน เล่นบันจี้จัมพ์ ดำน้ำที่ต้องใช้ถังอากาศ และเครื่อง ช่วยหายใจใต้น้านิวเคลียร์ ซึ่งดำเนินการติดต่อกันไปโดยตัวเอง
  19. สงคราม การรุกราน การกระทำที่มุ่งร้ายของศัตรูต่างชาติ หรือการกระทำที่มุ่งร้ายคล้ายสงคราม ไม่ว่าจะได้มีการประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม สงครามกลางเมือง การแข็งข้อ การกบฏ การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อความวุ่นวาย การปฏิวัติการรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึก หรือเหตุการณ์ใดๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการประกาศหรือคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก
  20. การก่อการร้าย
  21. การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และกรรมวิธีใดๆ แห่งการแตกแยกตัวทางนิวเคลียร์ซึ่งดำเนินการติดต่อกันไปโดยตัวเอง

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน