7 เรื่องท้าทายสังคมสูงวัยไทย…ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

สังคมสูงวัย เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของคนทำงานที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนก้าวสู่วัยหลังหยุดทำงานไปแล้ว เมื่ออายุ 55 ปีหรือ 60 ปีและต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 10-20 ปี ถามว่าเมื่อถึงวันนั้นเราจะอยู่ให้เกษมช่วงเกษียณได้อย่างไร ท่ามกลางการแพทย์ที่ก้าวล้ำช่วยให้คนเรามีอายุที่ยืนยาวได้มากขึ้นและมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

มีแง่คิด มุมมอง จากงานสัมมนา เกษียณแบบเศรษฐี สุขภาพดี มีเงินใช้ จัดโดย บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อแชร์ประสบการณ์และกระตุ้นสังคมไทยวัยทำงานได้มองเห็นเป้าหมายในอนาคตและวิธีวางแผนการเงินและสุขภาพให้พร้อมมาฝากกัน

คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมสูงวัยบ้านเราใกล้ตัวกว่าที่คิดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ซึ่งมี 7 เรื่องที่เราต้องคำนึงถึงดังนี้

1.คนไทยอายุยืนขึ้น  

เมื่อปีพ.ศ. 2528 ผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 64 ปี ผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย  69 ปี ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 75 ปี ผู้หญิงใกล้ 80 ปี  ถ้าวางแผนการเงินให้พอใช้ นอกจากมองที่อายุ  80 ปีแล้วจะต้องบวกเพิ่มตามนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ดีขึ้นและอาจจะทำให้เรามีอายุยืนถึง 80-85 ปีได้ เรื่องเงินจึงจำเป็นที่ต้องคิดว่า เราจะมีเงินพอใช้หรือไม่

2.โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไป    

สมัยก่อนสังคมไทยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่เวลาเจ็บป่วยหวังพึ่งลูกพึ่งหลาน ต่อมาปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่แต่งงานแล้วมักมีลูกคนเดียว หรือบางครอบครัวเลือกที่จะไม่มีบุตร หรือบางคนเลือกอยู่เป็นโสด  ดังนั้นหากเราไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ก็ลำบากแล้ว

 3.ค่าครองชีพ

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายเวลาออกนอกบ้านคิดเป็นเงินหลักหลายร้อย ไม่ใช่หลักสิบเหมือนเมื่อก่อน เป็นผลมาจากเรื่องของเงินเฟ้อ ฉะนั้น กลับมาดูที่เงินเก็บออมของเราถูกที่ถูกทางหรือไม่ ถ้าฝากเงินออมทรัพย์กับธนาคารได้อัตราดอกเบี้ย 0.5% ค่าเงินเฟ้อระยะยาวสมมติย้อนหลัง 10 ปี คิดที่ 2.5% แล้วคิดว่า สิ้นปีดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีเงินอยู่ในกระเป๋าเท่าไหร่ เอา  0.5%  – 2.5%  เหลือติดลบ  -2%  เงินเก็บออมของเราถ้าอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางก็สู้เงินเฟ้อไม่ได้

4.สวัสดิการภาครัฐ   เบี้ยยังชีพ เพียงพอหรือไม่

ถ้าอายุยืนขึ้นไม่ได้ดูแลตัวเองในเรื่องการเงินแล้วคุณจะพึ่งใคร

อายุ เบี้ยยังชีพ
60 ปี 600 บาท
70 ปี 700 บาท
80 ปี 800 บาท
90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท

 

5.ผลิตภัณฑ์การเงินมีความซับซ้อนขึ้น

สมัยก่อนใช้จ่ายสบายๆ

ฝากออมทรัพย์

ดอกเบี้ย

รับเงิน

ใช้จ่ายต่อเดือน

1,000,000  บาท

10%

100,000 บาท

8,000 -9,000  บาท

 

ปัจจุบันเพียงพอหรือไม่

 ฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ย รับเงิน ใช้จ่ายต่อเดือน
1,000,000  บาท 1% 10,000 บาท  800-900 บาท

 

ความยากขึ้นของการวางแผนเกษียณ อยู่ที่ว่า เงินของเราอยู่ถูกที่ถูกทางหรือไม่ รับความเสี่ยงได้หรือไม่ เก็บออมเงินได้เพียงพอหรือไม่  

6.คนเกษียณอายุเร็ว

คำว่า เกษียณอายุเร็ว แปลว่า ระยะเวลาเก็บเงินของเราสั้นลง สมัยก่อนจบไม่ถึงปริญญาตรีสามารถทำงานได้แล้ว บางคนมีอายุทำงาน 42-43 ปี มีเวลาเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้นานขึ้น แต่ปัจจุบัน กว่าเรียนจบ หางานทำได้อายุเริ่มๆใกล้ๆ 30 ปี และอยากเออรี่รีไทร์เมื่ออายุ 55 ปี เท่ากับเหลือเวลาเก็บเงิน 20 กว่าปี ในขณะที่คุณมีเวลาต้องใช้เงินนานขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องคิด

7.ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น

มีสารพัดโรคที่คนไทยเจ็บป่วยมากที่สุดและคร่าชีวิตคนไทยไปเยอะมาก เช่น โรคมะเร็ง  โรคหัวใจ  หลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลสูง เช่น ผ่าตัด ทำบอลลูนหัวใจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักแสนบาทขึ้นไป รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐก็มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน

สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลปัจจุบันโดยรวมสูงมาก โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวม สมมติ 100 บาท เราจ่ายค่ารักษาพยาบาลไป 75 บาท หรือ 75% ส่วน 25% คือ การป้องกัน หมายถึง เราเน้นรายจ่ายมากกว่าการป้องกัน    

จึงเป็นคำถามตามมาว่า ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลคุณใช้จ่ายกับมันอย่างไร หรือเก็บมาใช้แล้วแทนที่เงินเก็บไว้ใช้จ่ายยามเกษียณกลับต้องมาใช้หมดไปเรื่องของการรักษาพยาบาล

ดังนั้น หลายคนที่กำลังคิดเรื่องวางแผนการเกษียณ ต้องบอกว่า เงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลของคนเรายังไม่พอ  อย่างมนุษย์เงินเดือนท้ายที่สุดเคยมีประกันสังคม  เคยเป็นข้าราชการ เคยเบิกสวัสดิการ ต่อมาหลังเกษียณมองตัวเองว่าไลฟ์สไตล์ของเราไปอยู่ตรงไหน ค่าใช้จ่ายตรงนี้เพียงพอหรือไม่.

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน