เลขาฯคปภ.ชี้ 5 ปัจจัยที่ธุรกิจประกันภัยยุคใหม่ต้องเฝ้าระวัง เผย ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยพุ่งกว่า 2.2 ล้านล้านบาทในอีก 10 ปี   

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ  เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวถึง  “แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยยุคใหม่” การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี ๒๕๖4 (CEO Insurance Forum 2021)   ว่าในปีนี้ เป็นปีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เศรษฐกิจและสังคมไทยกําลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องมาหลายปี ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม และความเสี่ยงใหม่ที่รุนแรงขึ้น และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยิ่งส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสุขภาพของประชาชนชาวไทยในวงกว้าง ส่งผลให้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคมสะสมและเพิ่มพูนเรื่อยมา

ธุรกิจประกันภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบในหลายมิติเช่นกัน เห็นได้จากการเติบโตของ เบี้ยประกันภัยที่หดตัวลง ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบบประกันภัยไทย มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และสามารถตอบสนองกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที 

โดยสำนักงาน คปภ. ได้เร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และคนกลางประกันภัย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีของภาคธุรกิจ ในการระดมความคิดหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาและกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เช่น การผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย ทั้งการขยายระยะเวลา การให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย การปรับปรุงและพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยให้มีความคุ้มครองที่สอดคล้องกับภาวะความเสี่ยงและความต้องการของประชาชน รวมทั้งขยายความคุ้มครองกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนาม (Field hospital) หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) รวมถึงการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation และ Community Isolation การออกหลักเกณฑ์การเสนอขายประกันภัยแบบ Digital Face to Face ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก

ในช่วงที่ผ่านมา คนกลางประกันภัยกว่าร้อยละ 90 ต่างใช้วิธีนี้ในการติดต่อและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับลูกค้า จนนำไปสู่การยกระดับจากมาตรการชั่วคราวเป็นมาตรการถาวร และเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานของคนกลางประกันภัย ในขณะเดียวกันในส่วนของการกำกับดูแลบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ.ได้ปรับแนวทางและกระบวนการ เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังจุดเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทประกันภัย และธุรกิจประกันภัยโดยรวม และการกำหนด Supervisory package มาตรการผ่อนผันสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในระดับที่สูง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระยะถัดไป ยังคงมีความผันผวน การดำเนินการเพื่อรับมือเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จะต้องมีการดำเนินการเชิงรุกและคาดการณ์ไปข้างหน้า  ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ทำการประเมินผลกระทบ ศึกษาแนวทางในการปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงแนวโน้มรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง พบว่า มี 5 ประเด็นหลักที่เราต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นคือ คือ

1) การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digitalization) เร่งสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยนำเทคโนโลยีมาใช้ ลงทุนด้านเทคโนโลยี และร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้เกิด Digital transformation ในอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และการเข้าถึงลูกค้า

2) การส่งเสริมเชิงพาณิชย์ (Commercial) กำหนดมาตรการและแนวทางให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต โดยคำนึงถึงความแตกต่างของขนาดและความพร้อมของบริษัท

3) คนกลางประกันภัย (Intermediaries) ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเสนอขาย และ ปรับเปลี่ยนบทบาทของคนกลางประกันภัยในรูปแบบการให้คำแนะนำ และนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้

4) ความยั่งยืน (Sustainability) ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่สะท้อนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) อย่างเป็นรูปธรรม และ

5) การกำกับดูแล (Supervision) ต้องเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ๆ และปรับกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นเป็น Principle-Based Supervision และสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล

นอกเหนือจากการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่แล้ว ในปี 2564 นี้ ยังเป็นปีแรกที่ขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568 ) ที่กำหนดวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ “ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยง”   ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าประสงค์ของแผนพัฒนาฯ ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลธุรกิจ การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของธุรกิจประกันภัยและคนกลางประกันภัย และการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย และการยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน  อาทิ การพัฒนาระบบการยื่นขอรับความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (I-SERFF)

ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถให้ความเห็นชอบแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย ผ่านระบบ  I-SERFF ได้มากกว่า 15,000 แบบ ส่งผลให้บริษัทสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยออกสู่ตลาดได้อย่างทันท่วงที การดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ปรับทิศของหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ให้เกิดเพิ่มความคล่องตัวและไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุน ขยายโอกาสในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการลงทุนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงสนับสนุนการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Asset Allocation)

นอกจากนี้ ในส่วนของการป้องกันการฉ้อฉลด้านประกันภัย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดต้นทุนและ inefficiency ในธุรกิจประกันภัย ปี 2564 ฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัย (Fraud database) สำหรับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ Digital Face-to-Face แล้ว ยังได้เปิดให้มีการอบรมแบบ E-Learning อย่างถาวร ส่งผลให้มีจำนวนหน่วยงานจัดอบรมเพิ่มขึ้นและครอบคลุมการต่ออายุทุกประเภท โดย ณ เดือนตุลาคม 2564 สามารถออกและต่ออายุใบอนุญาตให้กับตัวแทนและนายหน้าประกันภัยมากกว่า 250,000 ใบอนุญาต ซึ่งถือได้ว่าเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  

อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ Insurance Regulatory Sandbox  ให้มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสที่กว้างขึ้น สำหรับบริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย Tech Firms และ InsurTech ให้สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น รวมถึงการพัฒนา Digital Infrastructure ที่สำคัญสำหรับธุรกิจประกันภัย ทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย หรือ Insurance Bureau System และ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง OIC Gateway เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real-Time ระหว่างธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการะยะที่ 1 ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยให้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน หรือ MyPolicyแก่ประชาชนทั่วไป ในการตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนเองถือครองทั้งหมดของทุกบริษัท ซึ่งสามารถแก้ปัญหา Pain point สำคัญของประชาชนได้อย่างตรงจุด

ในเรื่องการตรวจสอบสิทธิและความคุ้มครองด้านการประกันภัย ซึ่งในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์ มีประชาชนลงทะเบียนใช้บริการแล้วกว่า 5,000 คน โดยให้บริการผ่าน OIC Line Official “คปภ. รอบรู้ หรือ @OICconnectซึ่งเป็น Chatbot ที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และตอบคำถามด้านการประกันภัยให้กับประชาชน ปัจจุบันมีคลังความรู้รองรับคำถามมากกว่า 30,000 คำถาม และมีผู้ใช้งานมากกว่า 46,000 คน ซึ่งในระยะถัดไป จะยกระดับให้  “คปภ. รอบรู้ หรือ @OICconnectนี้ เป็น Super App ในการให้ข้อมูลและการบริการต่างๆ ของสำนักงาน คปภ. ครบ จบ ใน แอพเดียวครับ อีกเรื่องที่ต้องพูดถึง

และขอขอบคุณภาคธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความสำเร็จในการจัดงาน Thailand Insurtech Fair 2021 ซึ่งเป็นการจัดงานในรูปแบบ Virtual Event ครั้งแรกของธุรกิจประกันภัย โดยมียอดคนทั้งในและต่างประเทศเข้าชมงานกว่า 100,000 ราย คลิกชมกิจกรรมต่างๆ มากกว่า 710,000 ครั้ง และยอดเบี้ยประกันภัยภายในงานสูงถึง ๗๓๒ ล้านบาท รวมกว่า 15,000 กรมธรรม์ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมอีกขั้นของธุรกิจประกันภัย และประชาชน ในการทำธุรกรรมออนไลน์และการเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ดร.สุทธิพล กล่าวว่า หากมองไปข้างหน้า ธุรกิจประกันภัยจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งผมมองว่ามี 5 ปัจจัยที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่เราต้องเฝ้าระวัง ติดตามใกล้ชิด และปรับตัวให้เท่าทัน ประกอบด้วย

1) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและคงที่ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการ และความสามารถในการซื้อประกันภัยของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัย ต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุน อัตราดอกเบี้ยในการคำนวณเบี้ยประกันภัย รวมถึงรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขาย แม้เราจะมีการเปิดประเทศแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมกับความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาดังเดิม แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าสถานการณ์จะไปในทิศทางใด และใช้เวลานานแค่ไหน

2) ปัจจัยด้านสังคม ในปีหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า TDRI คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพของประชาชนไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ตื่นตัว รักษาสุขภาพ รวมถึงการใช้ internet และ social media ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในระยะถัดไป ความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ากลุ่ม silver age และ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นมาก และผู้บริโภคจะหันไปใช้ช่องทาง online ในการทำธุรกรรม รวมถึงเลือกซื้อประกันภัย ส่งผลให้ต้องมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ จาก traditional products ไปสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น

3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดปัจจัยหนึ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขัน และเติบโตได้ในอนาคต บริษัททุกแห่งต้องมีการปรับตัว และนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ มากมายที่จะเข้ามาช่วยบริษัทประกันภัย เทคโนโลยีที่เริ่มเห็นแล้ว คือ การประยุกต์ใช้ smart devices หรือ IoT ผนวกเข้ากับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และในระยะถัดไป จะเริ่มเห็นบริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มใช้ AI และ Data analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง รับประกัน และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน

4) ปัจจัยถัดมา คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม กระแส ESG หรือ Environmental, Social and Governance ถือได้ว่ามาแรงมาก เป็นที่พูดถึง และได้รับการผลักดันในระดับภาคการประกันภัย  ภาคการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในเวที ASEAN Insurance Regulators ก็ได้กำหนดเรื่อง Sustainable Insurance เป็น Priority หนึ่งที่ต้องการขับเคลื่อน ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในการดำเนินธุรกิจ การลงทุน และการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คำนึงถึงความยั่งยืน และประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการใน ASEAN Taxonomy Board อีกด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้าน sustainable finance ในภาคการเงินไทย และปีนี้เป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลประกันภัยดีเด่น ครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) สำหรับบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัย ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนมีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

5) ปัจจัยสุดท้าย คือ ปัจจัยด้านกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยไทย อยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง IFRS 17 ที่จะบังคับใช้ ในปี 2567 ส่งผลต่อวิธีการวัดมูลค่าหนี้สิน และการรับรู้รายได้ทางบัญชี รวมถึงภาษีในธุรกิจประกันภัย ตลอดจน พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะใช้จริงในปี 2565 ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับ ข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการพิจารณารับประกันภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้า และการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบ tailor made มากขึ้น อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติม คือ เรื่องของ Data Governance  เนื่องจาก ในปัจจุบันข้อมูลในธุรกิจประกันภัยมีความสำคัญและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายให้เหมาะสมและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในด้านของความเสี่ยงอุบัติเหตุใหม่ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีภัยธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนาการของระบบประกันสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในอนาคต  

ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า  เมื่อมองกลับไป ปี 2564 ถือเป็นปีที่ท้าทายมากปีหนึ่งของธุรกิจประกันภัยไทย แต่เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ธุรกิจของเรามีความยืดหยุ่น ตอบสนองกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และมั่นคง และถึงแม้ว่าในอนาคตข้างหน้าธุรกิจประกันภัย ยังต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ผมเชื่อมั่นว่าหากเราเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการ วางแผน เตรียมการให้พร้อม ตั้งรับให้ดี เราจะสามารถผ่านสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อ “หยุดการลุกลาม” ยังคงมีความสำคัญ สำนักงาน คปภ. จะต้องฟื้นฟูและช่วยเหลือบริษัทเป้าหมายที่อาจประสบปัญหา ในขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่น (resilience) และเสถียรภาพของระบบประกันภัยโดยรวม

ในขณะเดียวกัน เป้าหมายการดำเนินการตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๔ และแผนแม่บทต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลให้ “เท่าทัน” การส่งเสริมการสู่ Digital Insurance” การสร้าง Inclusion และ Awareness” รวมถึง การมุ่งสู่ SMART OIC” ดังนั้น บทบาทและแนวทางของสำนักงาน คปภ. เพื่อเอื้ออำนวยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ประกอบด้วย 5 มิติสำคัญ ดังนี้  

มิติที่ 1  คือ เรื่องของการเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่น และเสถียรภาพของระบบประกันภัย  ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้น ที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อ “แก้วิกฤติ” และ “ฟื้นฟู” ธุรกิจประกันภัย ซึ่งประกอบด้วย การปรับกระบวนการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้สะท้อนความเสี่ยง เน้นการทำงานแบบ proactive และ forward looking มากขึ้น สำนักงาน คปภ. จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน ประเมินโอกาสและแนวโน้มต่างๆ เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และตรงจุด เพื่อดักจับความเสี่ยง ป้องกันและลดผลกระทบต่างๆ  ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการและแนวทางในการ “ฟื้นฟู” และ “สร้างความเข้มแข็ง” ให้กับธุรกิจ ถัดมา คือ การติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงเชิงระบบ หรือ Systemic risk ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ซึ่งต้องเฝ้าระวังทั้งความเสี่ยงในระบบประกันภัย และความเสี่ยงในระบบการเงิน การทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test ต้องมีการทบทวน และปรับปรุงพารามิเตอร์ให้เหมาะสม สะท้อนความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ส่วนสุดท้าย คือ กลยุทธ์ในการสื่อสาร ต้องเน้นในเรื่อง Incidental communication การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย สร้างความเชื่อมั่นและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

มิติที่ 2 การปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการให้เท่าทันบริบทที่เปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่

สภาพแวดล้อมของระบบประกันภัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำนักงาน คปภ.ไม่เคยหยุดนิ่งในการปรับเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแล พัฒนาฐานข้อมูล เครื่องมือใหม่ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจ ซึ่งในปีหน้า เราจะได้เห็นการพัฒนาเครื่องมือในการกำกับดูแลใหม่ รวมถึง        ต่อยอดระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น และสำนักงาน อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการนำ Data analysis มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ ในส่วนของการกำกับดูแลและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัย มิติและจุดเน้นในการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย จะต้องปรับเปลี่ยนให้คำนึงถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของบริษัท และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  มาช่วยในกระบวนการให้ความเห็นชอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการ product governance ของบริษัทในการพิจารณา ติดตาม และสอบทานการเสนอขายและรับเสี่ยงภัยของบริษัทอีกทางหนึ่ง

และสำนักงาน คปภ. กำลังจะจัดให้มีโครงการ Product Sandbox ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ นอกเหนือจากการทดสอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีใน Insurance Regulatory Sandbox นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราจะปรับเปลี่ยนแนวทางเป็นมุ่งเน้นสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ Customer-centric คำนึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง ผลิตภัณฑ์ประเภท tailor-made  ผลิตภัณฑ์ประกันภัยพื้นฐานที่จำเป็น และผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับภูมิภาค  (Localized products) การปรับปรุงกฎหมายแม่บทต่างๆ ยังคงเป็นสิ่งที่สำนักงาน คปภ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลักดันการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย กลุ่มที่ 2 และ 3 ที่มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ รวมถึงศึกษาแนวทางในการพัฒนากลไกทางกฎหมายด้านการประกันสุขภาพ ประกันภัยทางการเกษตรเพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัย และเสริมสร้างความสามารถในการรับเสี่ยงภัยของธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้งเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะหารือในการประชุมกลุ่มย่อยในวันนี้ด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าข้อสรุปจากที่ประชุมในวันนี้ จะสามารถสร้างสรรค์และขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับระบบประกันภัยของไทยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ

อีกส่วนหนึ่ง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ efficiency ในระบบประกันภัย การดำเนินการหลักในระยะถัดไป ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งจะเป็นการดำเนินการตาม Roadmap ที่ได้วางไว้ โดยต่อยอดระบบและเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตาม และตรวจจับโอกาสการฉ้อฉลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของแนวทางการลดต้นทุนในธุรกิจประกันภัย จะดำเนินการควบคู่กันทั้งในเรื่องการบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย กำหนดแนวทางลด regulatory cost เช่น การลดความซ้ำซ้อนในการส่งรายงานต่างๆ และการศึกษารูปแบบการให้บริการร่วม หรือ Shared service model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนของธุรกิจประกันภัย 

มิติที่ 3 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัย (Digital Insurance System)

         เทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญในการ transform ธุรกิจประกันภัย บทบาทของสำนักงาน คปภ. คือ การเป็น Facilitator สนับสนุนให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้บริการ เข้าถึง และพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมกับนำมาใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ end-to-end process เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของระบบประกันภัย ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการสร้าง ecosystem ที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ทั้งในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์  model ธุรกิจใหม่ๆ และแนวทางในการเปิดรับผู้เล่นรายใหม่  ส่วนที่สอง คือ การพัฒนาฐานข้อมูลและ Platform รวมถึงผลักดันการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย หรือ IBS ระบบข้อมูลประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ และต่อยอดการพัฒนาระบบ OIC gateway เพื่อให้สามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจ และประชาชนได้มากขึ้น รวมถึง การส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย หรือ InsurTech ให้เป็นที่แพร่หลาย และมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มากขึ้น ผลักดันให้ประเทศไทย เป็น InsurTech Startup Hub ซึ่งจากจัดงาน Thailand InsurTech Fair ถือเป็นก้าวแรก ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และส่วนสุดท้าย คือ การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจประกันภัย ซึ่งมาควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น จะต่อยอดจากเสริมสร้าง Cybersecurity สู่ cyber resilience และ การพัฒนาบุคลากรใน พร้อมกันนั้น ในปีหน้า การตรวจสอบบริษัทประกันภัย (onsite-inspection) จะขยายขอบเขตไปสู่การประเมินบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และ IT risk ซึ่งการประชุมในกลุ่มย่อยที่ 1 การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย ในวันนี้ จะทำให้รับทราบถึงความต้องการของภาคธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าต้องการให้สำนักงาน คปภ. Facilitate ในด้านใด กฎเกณฑ์ใดที่ต้องปรับเปลี่ยน และ Infrastructure ใดที่ต้องมี

มิติที่ 4 การปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าถึงและสร้างความตระหนัก

         ผลลัพธ์ที่ สำนักงาน คปภ คาดหวัง คือ ประชาชนและภาคธุรกิจ ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถเข้าถึงประกันภัยได้สะดวก และใช้ประโยชน์จากการประกันภัย และยกระดับมาตรฐานและบทบาทคนกลางประกันภัย ในส่วนของ Insurance literacy นอกเหนือจากการให้ความรู้ จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนมากขึ้น โดยจะปรับเปลี่ยนวิธีการ ช่องทาง และพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้สามารถถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ มากขึ้น ทั้ง online และ on ground ในส่วนของช่องทางการเสนอขาย และคนกลางประกันภัย ถือได้ว่าเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทมากในให้ความรู้ และทำให้การประกันภัยเข้าถึงบุคคลมากขึ้น สำนักงาน คปภ.มุ่งหวังปรับเปลี่ยนบทบาทของคนกลาง จากการเป็น“ผู้เสนอขาย” เป็น “ที่ปรึกษา” ที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือวางแผนการเงิน ดังนั้น กรอบการกำกับดูและการกำหนดเงื่อนไขต้องมีการทบทวน ปรับปรุง ให้รองรับและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ และเนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนคนกลางเป็นจำนวนมาก ในปี 2565 สำนักงาน คปภ. จะนำระบบ e-licensing มาใช้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของคนกลางประกันภัยอย่างครบวงจร ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย จากสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า              มีประชาชนเข้ามาใช้บริการ และมีความคาดหวังในส่วนนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงให้กระบวนการของสำนักงาน มีความรวดเร็ว ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้โดยสะดวก และ real time พร้อมกับเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิด ข้อพิพาทให้ดียิ่งขึ้น

มิติที่ 5 มิติสุดท้าย คือ เรื่องของการพัฒนาองค์กร มุ่งสู่ SMART OIC 

         ในขณะนี้ สำนักงาน อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผน SMART OIC  ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การ transform องค์กรสู่ Digital regulators ในทุกมิติ ซึ่งสิ่งที่ต้องเน้น คือ  ๑) ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล รวมถึง Mindset ของบุคลากร ๒) ข้อมูล หรือ Data ซึ่งเป็น resource ที่สำคัญมากที่จะช่วยตัดสินใจด้านกลยุทธ์และขับเคลื่อนระบบประกันภัย โดยการเก็บรวบรวม ประมวลผล และวางโครงสร้างข้อมูลภายในสำนักงาน และ ๓) การพัฒนา platform หรือ tools เพื่อช่วยยกระดับและอำนวยความสะดวกในการทำงาน

การที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการตามมิติต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดให้ประสบผลสัมฤทธิ์ได้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ และการประชุมในวันนี้ จะช่วย shape มุมมองระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรงกัน มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน สามารถนำผลไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในการประชุมหัวข้อย่อย ทั้ง 3 เรื่อง ซึ่งได้แก่ การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย การยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัยอย่างยั่งยืน และการเพิ่มขีดความสามารถในการรับประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อจะได้นำข้อเสนอแนะไปดำเนินการต่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ ขอฝากข้อคิด 4 ข้อในการ Hack the Future เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายของภาคธุรกิจประกันภัย ดังนี้

  1. นำเทรนด์ มากกว่าตามเทรนด์ ผลักดันกลยุทธ์ในเชิงรุกในการปรับเปลี่ยน model การประกอบธุรกิจ และปรับตัวให้เร็วกว่าคนอื่น
  2. เทคโนโลยีก้าวไกล คนในอุตสาหกรรมก้าวทัน Digital Disruption และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจ
  3. คิดให้สุด ไม่หยุดลงมือทำ ต้องคิดแบบ forward Looking และทำจนกว่าจะสำเร็จ
  4. เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส COVID-19 = Opportunity การเรียนรู้และปรับตัวเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงได้

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....