คปภ.ลงพื้นที่ให้ความรู้ประกันภัยข้าวนาปีจ.พะเยา

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.ได้เดินหน้าขับเคลื่อนกลไกการประกันภัยพืชผล เพื่อผลักดันให้เกษตรกรไทยบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการประกันภัยข้าวนาปี พร้อมดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่มอบหมายให้สำนักงาน คปภ.เป็นหน่วยงานดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers)” ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 จังหวัดพะเยา

โดยสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและรับฟังข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะจากเกษตรกรผู้ทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่เป็นจังหวัดที่ 4 สำหรับปีนี้ หลังจากลงพื้นที่ไปก่อนหน้านี้แล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดกำแพงเพชร

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้โดยเกษตรกรต้นแบบ ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบัว และพบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวนาปี ณ วัดดอกบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนกว่า 300 คน รวมทั้งจากการรายงานข้อมูลของสำนักงาน คปภ. จังหวัดพะเยา พบว่าในปี 2560 จังหวัดพะเยา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 617,214 ไร่ และมีการเอาประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 313,223 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 50.75% ของพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีอยู่ร้อยละ 44.94 โดยได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งสิ้น 13,584,847 บาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยสุทธิ 24,753,399 บาท สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่าเกษตรกรยังขาดความเข้าใจในเงื่อนไขการรับประกันภัยและความคุ้มครองจากการประกันภัยข้าวนาปี

ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ จึงได้อบรมความรู้การประกันภัยข้าวนาปี “Training for the Trainers” ประจำปี 2561 โดย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ให้การต้อนรับ และกล่าวขอบคุณที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดอบรมความรู้ให้กับเกษตรกรจังหวัดพะเยา

“สำนักงาน คปภ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “โครงการประกันภัยข้าวนาปี” จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวนาไทย และทำให้เกษตรกรเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิตและยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป”

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน