รมว.คลัง เปิดงาน Thailand InsurTech Fair 2021 แนะวิถีใหม่ในธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัว 6 ข้อ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา เปิดงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้แสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับสังคมไทยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศและต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำประกันชีวิตและการจัดทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับครัวเรือนและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ภาคธุรกิจประกันภัยหรืออุตสาหกรรมประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของประเทศและมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจากผู้ที่มีเงินออมเพื่อสร้างหลักประกันชีวิตในระยะยาว ความสามารถในการพยากรณ์หากมองในแง่ของช่วงชีวิตของอายุคนนั้น ก็สามารถที่จะประมาณการได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรานั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะ น้ำท่วม ภัยแล้งต่างๆ เป็นเรื่องที่แม้มีเทคโนโลยีในการพัฒนาในเรื่องของการพยากรณ์ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แม้จะมีระบบป้องกันน้ำท่วมหรือภัยแล้งเป็นอย่างดีก็ตาม ฉะนั้น วันนี้เราต้องมองไปข้างหน้าตามชีวิตวิถีใหม่ในธุรกิจประกันภัยก็ต้องมีการปรับตัวมี 6 ข้อ
1.เทคโนโลยีดิจิทัล แผ่ขยายไปทั่วทุกหนแห่ง ทั้งในระดับประชาชน ในระดับธุรกิจ ระดับรัฐบาล โดยในส่วนของรัฐบาลเองได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งการทำธุรกรรมกับภาครัฐนั้น ในการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ภาษี ก็สามารถทำผ่านมือถือได้ และคาดหวังว่าในธุรกิจประกันภัย จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการช่วยลดภาระการเดินทาง กระดาษที่ใช้ในปัจจุบัน
2.เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ วันนี้ธุรกิจประกันภัยได้ขยายบทบาทไปในเรื่องของการรับประกันภัยพืชผลทางการเกษตรทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้ทำไปแล้ว ซึ่งเราต้องดูในเรื่องของการความแม่นยำในการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่รวมในเรื่องของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นหัวข้อที่พูดกันทั่วโลกและเป็น 1 ในนโยบายการเงินที่พูดกันในเวทีระดับโลกกับภูมิภาค ว่าในเรื่องของการระดมทุนผ่านสถาบันการเงินต่างๆนั้นในอนาคตควรจะมุ่งไปในทางไหน และชัดเจนว่ามุ่งไปเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความสะอาด หรือส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนคือเรื่องของการใช้รถยนต์จากน้ำมันเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ฉะนั้นในธุรกิจประกันภัยก็ต้องมองต่อไปอีกว่าเมื่อเปลี่ยนไปแบบนี้ธุรกิจประกันภัยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนองตอบเรื่องนี้อย่างไร
3.ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ฉะนั้นถ้าหากมองในเรื่องของหลักประกันชีวิต แหล่งที่สามารถออมได้ คือ เรื่องของการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ซึ่งในระหว่างทางนั้นไม่มองแค่บั้นปลายชีวิตแต่ให้มองในเรื่องของผลตอบแทนให้กับตัวเองในฐานะผู้ซื้อประกัน ขึ้นอยู่กับแบบผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้กับผู้ซื้อว่าตรงกับความต้องการของประชาชน
4.ความจำเป็นของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราอาจยังขาดไปคือ ความครอบคลุมของธุรกิจประกันภัยไปเรื่องของการรับประกันโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เป็นสาธารณะไม่ว่าจะเป็นสนามบินท่าเรือ รถไฟ ถนน หนทางต่างๆนั้น ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรมีครอบคลุมไว้ในธุรกิจประกันวินาศภัยในรูปแบบต่างๆ ที่ธุรกิจประกันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้
5.เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน ในเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร สมุนไพรต่างๆซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มูลค่าสูงและวัสดุ วัตถุดิบต่างๆที่หมุนเวียนอยู่ในระบบไม่มีเศษของเหลือไปสู่สังคมของเรา รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญของ ESG ที่มีลักษณะคล้ายกันเพียงแต่เพิ่มเรื่องธรรมาภิบาลเข้ามา
6.ในการพัฒนาธุรกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมหรือดำเนินกิจการใดนั้นต้องบริหารความเสี่ยงซึ่งขึ้นอยู่กับความแม่นยำในการคาดการณ์ในอนาคต คาดการณ์ความเป็นไปได้มีมากน้อยเพียงใด ต้องทำการทดสอบเรื่องความอ่อนไหว เป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอดได้
สุดท้ายหวังว่าอุตสาหกรรมประกันภัยจะร่วมเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพมั่นคงทั้งจากภายในและภายนอก และประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาให้ได้ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com