ส.ประกันชีวิตฯ ตั้งเป้าปี 62 ธุรกิจประกันโต 3-5%
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตยังเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (มกราคม – ธันวาคม 2561) 627,387 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตถึงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 180,415 ล้านบาท อัตราเติบโตร้อยละ 7.5
โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 95,684.3 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.22 เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 84,730.7 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 30.96 เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 446,972 ล้านบาท อัตราเติบโตร้อยละ 3.01 ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 83 คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) ร้อยละ 3.9 (2560 : 3.9%) และคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อประชากร (Insurance Density) จำนวน 9,447 บาท/คน เติบโตขึ้นร้อยละ 3.9 (2560 : 9,091 บาท/คน)
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ปี 2561 เป็นดังนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 305,478.4 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 48.7
หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 280,458.8 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 44.7
หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง 14,333.9 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.3
หรือเติบโตลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ 27,115.8 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 4.3 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปี 2562 คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-5 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 648,000-650,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่จะขยายตัวร้อยละ 4 ภายใต้การส่งเสริมด้านการลงทุนของภาครัฐกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการขยายตัวของการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของสินค้าเกษตร รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัว
นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยส่งเสริมโดยตรงจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับ เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี อาทิ การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน การผ่อนคลายกฏระเบียบเรื่องการลงทุนของภาคธุรกิจ มาตรการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจยื่นขอความเห็นชอบกรมธรรม์แบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาในการอนุมัติแบบประกัน การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันชีวิตแก่ประชาชนโดยทั่วไป ให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการทำประกันชีวิต การวางแผนสุขภาพของประชาชนในระยะยาวกับการส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจากเบี้ยประกันภัยสุขภาพจำนวน 15,000 บาท
และล่าสุดกับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมราคาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการแข่งขันของภาคธุรกิจทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การบริการและช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย
ส่วนทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ ผลิตภัณฑ์ Single Premium และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนยูนิตลิงก์ (Unit- Linked ) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น จึงให้ความสนใจทั้งในเรื่องของความคุ้มครองและแสวงหาช่องทางการลงทุนแบบใหม่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจากผลิตภัณฑ์นี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมและเชื่อมต่อกับประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพของตัวเองในระยะยาว และการมุ่งสู่โลกดิจิทัลทั้งในเรื่องข้อมูล การให้บริการตลอดจนการขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพให้กับคนกลางประกันภัยอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงเผชิญกับความท้าทาย ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงอันสืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า รวมทั้งภาวะความกดดันจากหลักเกณฑ์และกติกาสากล ในเรื่องมาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS 9, IFRS 17 และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ… (Privacy Law) สืบเนื่องจากการมีผลบังคับใช้ของกฎเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation (GDPR) (EU)) ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561
โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ควบคุมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในสหภาพยุโรป และมีสภาพบังคับไม่จำกัดเฉพาะต่อประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ตลอดจนการกำกับจากหน่วยงานภาครัฐผ่านกฎระเบียบ และร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ …) พ.ศ… การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) ที่ส่งผลให้ยอดขายผ่านช่องทางธนาคารลดลง การปรับตารางมรณะใหม่ การเผชิญกับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) จากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันสุขภาพ
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปี 2562 จะไม่ได้เป็นปีหมูทองสำหรับธุรกิจประกันชีวิต จากเหตุที่ต้องพบกับปัจจัยท้าทายที่รออยู่ หากแต่เชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตก็จะยังคงเติบโตได้ดี เพราะมีการตั้งรับและเตรียมตัวอย่างดี มีความร่วมมือของทั้งภาคอุสาหกรรม โดยมีสมาคมประกันชีวิตไทยเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจต่างๆ ที่เป็นปัจจัยท้าทาย ทั้งในรูปแบบรับฟังความคิดเห็น การจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยโดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด อาทิ การปรับปรุงและพัฒนากรมธรรม์ประกันสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ประกันชีวิต การแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ …) พ.ศ… คนกลางประกันภัยและการฉ้อฉลประกันภัย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ… (Privacy Law) , การร่างแนวปฎิบัติกับสภาวิชาชีพเรื่องมาตรฐานการรายงานทางการเงิน กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (International Financial Reporting Standards : IFRS 9) การกำหนดมาตรการร่วมกันในการบริหารจัดการองค์กรและคนกลางเพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เพื่อสร้างความเชื่อใจ และป้องกันปัญหาข้อร้องเรียนในอนาคต อันเป็นการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจประกันชีวิตต่อไป
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com