ตอนที่ 1

เต่าทะเล: มหัศจรรย์ชีวิตแห่งท้องทะเลแต่อยู่ในสถานะที่วิกฤตต่อการใกล้สูญพันธุ์

โดย…พีระ ป้อมสุข pppeera@gmail.com

                                                                                ——————

คุณเคยถูกรางวัลสลากกินแบ่งฯ หรือไม่? ไม่ต้องคิดถึงรางวัลที่ 1 หรอกครับ เอาแค่เลขท้าย 2 ตัวก็พอและถ้าผมกำลังจะบอกว่าถ้าโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตของเต่าทะเลจากฟักไข่จนถึงวัยเจริญพันธุ์มันน้อยกว่าโอกาสในการถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวถึง 10 เท่า คุณคิดว่ามันวิกฤตหรือยัง?

บทความนี้จึงถือโอกาสในการแบ่งปันความมหัศจรรย์ของเต่าทะเล ซึ่งจากนี้ไปขอเรียกเพื่อความน่ารักว่า “น้องเต่า” รวมถึงความน่ากลัว และวิกฤตต่อการหายไปของน้องเต่าให้ทุกท่านได้รับรู้ และช่วยกัน

ความมหัศจรรย์ลำดับแรกของน้องเต่าคือพวกเขาอยู่บนโลกใบนี้มาอย่างยาวนาน โดยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับไดโนเสาร์ ต่างกันที่ว่าเต่ายังอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เพื่อนไดโนเสาร์นั้นสูญพันธุ์จากโลกไปเป็นหลายล้านปีแล้วน้องเต่าที่พบในประเทศไทยนั้นมีทั้งเต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล รวมแล้วกว่า 20 สายพันธุ์ แต่น้องเต่าที่จะนำมาแนะนำให้รู้จักความมหัศจรรย์ของพวกเขาในครั้งนี้นั้นคือ “เต่าทะเล”

ในประเทศไทย มีการพบเต่าทะเลผู้น่ารักถึง 5 สายพันธุ์ ได้แก่

เต่าตนุ (Green Sea Turtle)

เต่าหัวค้อน (Loggerhead Sea Turtle)

เต่ากระ (Hawksbill Sea Turtle)

เต่ามะเฟือง (Leatherback Sea Turtle)

และ เต่าหญ้า (Olive Ridley Sea Turtle)

น้องเต่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเล และพวกเขาก็มีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ที่ธรรมชาติมอบให้ เราลองมาทำความรู้จักน้องๆ เหล่านี้กันดีกว่า

กำเนิด

พ่อแม่ของน้องเต่าปกติแล้วจะหากินอยู่ตามแหล่งที่มีอาหารซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งออกไป แต่เมื่อถึงคราวจะผสมพันธุ์ พ่อแม่ของน้องเต่าจะเดินทางเข้ามายังแหล่งผสมพันธุ์กลางทะเลซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งเข้ามา จากนั้นแม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดในยามค่ำคืน โดยเลือกพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อลูกๆ เช่น พื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง พื้นที่ที่ปราศจากแสงไฟและเสียงดัง ฯลฯ จากนั้นค่อยๆ ใช้ขาคู่หน้า หรือที่เรียกว่า ใบพาย ในการตะกุยทรายเพื่อทำให้เป็นหลุมแล้ววางไข่ และจากไปโดยไม่กลับมามองอีกเลย (ลูกๆ ต้องสู้เอาเองนะจ๊ะ) ซึ่งในแต่ละฤดูวางไข่ แม่เต่าอาจวางได้มากถึง 10 รัง ในทุกๆ 10 – 12 วัน โดยในแต่ละรังนั้นมีไข่เฉลี่ย 50 – 200 ฟอง

จากนั้นใช้เวลาอยู่ใต้หลุมทรายประมาณ 50 วัน ลูกเต่าจะฟักเป็นตัว โดยใช้ปากเจาะเปลือกไข่ พาตัวเองออกมาจากเปลือก ค่อยๆ คลานจากหลุมฟักไข่บนชายหาด แล้วคลานดุ๊กดิ๊กๆ กลับลงสู่ทะเล ในตอนที่แม่เต่าวางไข่นั้นน้องเต่าจะยังไม่มีเพศชัดเจน แต่อุณหภูมิในช่วงฟักไข่จะเป็นตัวกำหนดเพศ หากมีอุณหภูมิในรังสูงกว่า 29 องศา จะเป็นเพศเมีย หากอุณหภูมิต่ำว่านั้นน้องเต่าก็จะเป็นเพศผู้

ลูกเต่าจะมีพลังงานติดตัวคือ ถุงไข่แดงที่ติดอยู่บริเวณหน้าท้อง ซึ่งจะใช้เป็นพลังงานสำรองในการว่ายน้ำออกไปยังทะเลลึกได้สูงสุดประมาณ 7 วันหลังจากฟักออกจากไข่ จากนั้นเมื่อพลังงานหมด ลูกเต่าจะเริ่มหาอาหารและหาแหล่งที่อยู่อาศัยตามแนวปะการัง และแนวหญ้าทะเล รวมถึงการออกเดินทางไปหากินตามที่ต่างๆ โดยมีกระแสน้ำเป็นตัวช่วยในการพาไป

เจริญพันธุ์

เมื่อน้องเต่ามีอายุได้ประมาณ 12 – 16 ปี น้องเต่าจะเริ่มผสมพันธุ์และเปลี่ยนสถานะเป็นพ่อเต่า แม่เต่า แทน

แม่เต่าหลังจากผสมพันธุ์กลางทะเลแล้วจะขึ้นมาวางไข่บนชายหาด โดยความอัศจรรย์คือ แม่เต่าสามารถเดินทางกลับไปวางไข่ยังชายหาดที่มันคลานลงทะเลเมื่อตอนออกจากไข่และลงทะเลเป็นครั้งแรกได้ ด้วยความสามารถในการจดจำสภาพทางกายภาพของหาดและความสามารถในการรับรู้สนามแม่เหล็กโลก ด้วยสัญชาติญาณที่ว่าที่ที่เกิดมาคือที่ที่จะปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกๆ ของเธอ

ครบรอบวัฎจักรการเกิด “น้องเต่า” ที่เติบโตเป็น “แม่เต่า” ขยายพันธ์กันแล้วนะครับ ฉบับหน้าเรามาติดตามกันต่อว่า อะไร! ที่เป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์วิกฤตต่อการหายไปของ “น้องเต่า” ที่เหลือรอดกลับมาเป็น “แม่เต่า” ปัจจุบันกันนะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน