เมืองไทยประกันชีวิต เปิดลิสต์ 5 กองทุนศักยภาพ ขยายโอกาสลงทุนยูนิตลิงค์

เมืองไทยประกันชีวิต จับกระแสการลงทุน ชู 5 กองทุนใหม่ เสริมศักยภาพบริการซื้อขายกองทุนรวม ตอบสนองความต้องการของลูกค้ายูนิตลิงค์ ติดปีกการลงทุนด้วยทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย มุ่งสร้างผลตอบแทนคุ้มค่าความเสี่ยง ตอกย้ำจุดยืนผู้นำด้านการวางแผนการเงินแบบครบวงจร

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เปิดเผยว่า บริษัทฯเล็งเห็นความสำคัญของการขยายโอกาสการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนระยะยาว จึงได้เพิ่มกองทุนรวมใหม่ 5 กองทุน จากเดิมที่มีอยู่ 48 กองทุน เพิ่มเป็น 53 กองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าประกันชีวิตควบการลงทุน mDesign, mOne และ mOnePlus สามารถเลือกจัดพอร์ตกองทุนรวมได้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกระดับความเสี่ยง และช่วยให้การวางแผนการเงินในระยะยาวมีความมั่นคงและเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เมืองไทยประกันชีวิตได้คัดสรร 5 กองทุนรวมคุณภาพ จาก 5 บลจ. ชั้นนำ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้ายูนิตลิงค์ ประกอบด้วย

  • กองทุนของ บลจ.กรุงศรี ชื่อกองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้ ชนิดสะสมมูลค่า (KFAFIX-A) มีนโยบายลงทุนโดยเน้นลงทุนในประเทศและ/หรือต่างประเทศ ในตราสารหนี้และ/หรือเงินฝาก หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินและ/หรือภาคเอกชน
  • กองทุนของ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ชื่อกองทุนเปิด แอล เอช โกลบอล ไลฟ์สไตล์ อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า (LHGLIFEE-A) เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในกลุ่มบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของการบริโภค โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco Global Consumer Trends Fund ชนิดหน่วยลงทุน C-Acc Share Class ประเภท Accumulation ในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ (USD) จดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารและจัดการโดย Invesco Management S.A.
  • กองทุนของ บลจ.กสิกรไทย ชื่อกองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า (K-CHANGE-A(A)) เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact) ต่อสังคมโดยรวม โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Baillie Gifford Positive Change Fund – Class B accumulation (GBP)​​
  • กองทุนของ บลจ.ทีเอ็มบี ชื่อกองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง Asia Active Equity (TMBAGLF) กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในบริษัทของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ กองทุน Schroder International Selection Fund – Emerging Asia ในหน่วยลงทุนชนิด (Class) A2 Acc USD ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จดทะเบียนในประเทศ Luxembourg บริหารจัดการโดย Schroder Investment Management (Europe) S.A.
  • กองทุนของ บลจ.เอ็มเอฟซี ชื่อกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อิสลามิก ฟันด์ (ชนิดยูนิตลิงค์) หรือ MFC Islamic fund (MIF-U) กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ในประเทศ โดยหลักทรัพย์ที่จะลงทุนต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามหลักศาสนาอิสลาม

นายสาระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เมืองไทยประกันชีวิตเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน จึงได้คัดสรรกองทุนรวมหลากหลายนโยบายการลงทุน เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ลูกค้าวางแผนกระจายการลงทุนผ่านประกันชีวิตควบการลงทุน mDesign, mOne และ mOnePlus ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยวางแผนทางการเงินในระยะยาว สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตพร้อมโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมคุณภาพที่เลือกสรรโดยบริษัทฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายและตรงจุด

สำหรับกองทุนรวมที่ขยายทางเลือกเพิ่มขึ้นนั้น ลูกค้าประกันชีวิตควบการลงทุน mDesign, mOne และ mOnePlus สามารถเลือกวางแผนการลงทุนได้แล้ววันนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อตัวแทนเมืองไทยประกันชีวิต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1766

หมายเหตุ 

– mDesign เป็นชื่อทางการตลาดของแบบประกันภัยเมืองไทยยูนิตลิงค์ 1 (ชำระเบี้ยประกันภัยรายงวด)   mOne เป็นชื่อทางการตลาดของแบบประกันภัยเมืองไทยยูนิตลิงค์ 1 (ชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียว) และ mOneplus เป็นชื่อทางการตลาดของแบบประกันภัยเมืองไทยยูนิตลิงค์ 2 (ชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียว)

– เงื่อนไขและข้อยกเว้นเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ 

– การพิจารณารับประกันเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด

– การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

คำเตือน ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน